เทคนิคการวัดแสง

F9, 1/125s, ISO100, Focal Length 105 mm, Pattern Metering         กล้องทุกตัวจะรับรู้ความสว่าง หรือความมืด เมื่อเราแตะปุ่มชัตเตอร์ โดยมีตัวเซ็นเซอร์ทำหน้าที่อ่านค่าแสงที่ผ่านเลนส์เข้ามา เพื่อให้เราควบคุมปริมาณแสงได้ตามความต้องการ สามารถทราบค่าด้วยสเกลที่มีค่าตรงกลางเป็นศูนย์ ด้านขวามีเป็นค่าทางบวก และทางซ้ายมีค่าเป็นลบ แต่กล้องหลายตัวสามารถสลับค่าบวกกับลบให้เปลี่ยนด้านกันได้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน         ในกล้องดิจิตอล ที่ใช้ช่องมองภาพทั้งแบบ OVF (Optical View Finder) และแบบ EVF (Electronic View Finder) จะสามารถแสดงผลให้เราอ่านค่า โดยไม่ต้องละสายตาจากวัตถุ มักจะวางไว้อยู่ส่วนล่างของกรอบช่องมองภาพ สำหรับกล้องที่ใช้ระบบ Live View สะดวกในการมองเห็นผ่านจอ LCD ที่ปรากฏภาพจริงขณะปรับค่าทันที ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยทำให้คุณมีความสุขกับการถ่ายภาพได้มากขึ้น สเกลแบ่งเป็นช่องๆค่าบวก คือแสงสว่าง หรือเรียกอีกอย่างว่า “โอเวอร์” และค่าลบ คือแสงมืด หรือเรียกว่า “อันเดอร์” โดยมากจะมีข้างละ +/- 2 แต่ละช่องจะแบ่งค่าละเอียดลงไปอีกสามส่วน ซึ่งหน่วยของค่าที่ใช้วัดนี้เรียกกันว่า “สตอป” กล้องทุกรุ่นใช้แบบเดียวกัน เรียกเหมือนกันเป็นมาตรฐานสากล ลองไปดูสิว่าในกล้องของเรามีระบบการวัดแสงแบบใดกันบ้าง... แบบเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-Weight Average Light-Metering)         สัญลักษณ์ส่วนใหญ่มักจะมีวงกลมซ้อนกันอยู่สองวงบริเวณส่วนกลาง โดยมากกล้องจะพยายามให้ความสนใจกับพื้นที่ราว 60% ที่บริเวณกลางกรอบภาพจึงถือเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ ส่วนรอบนอกจะมีพื้นที่เหลืออีก40% บางรุ่นอาจแบ่งแตกต่างกันไป เช่น ส่วนกลาง 75% รอบนอก 25%         การวัดแสงระบบนี้ให้ความสำคัญกับพื้นที่กลางภาพเป็นหลัก จึงเหมาะสำหรับการเน้นถ่ายภาพวัตถุให้อยู่กลางภาพ หรือมีขนาดเต็มเฟรม เช่น การถ่ายภาพบุคคล การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง แบบแบ่งพื้นที่ (Multi-Segment, Pattern, Evaluative หรือMatrix Light-Metering)         ใช้สัญลักษณ์ ...??? มีการแบ่งพื้นที่หลายส่วน ระบบนี้จะมีการแบ่งพื้นในช่องมองภาพออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ตั้งแต่ 64 ถึง 1000 ส่วน แต่ละส่วนจะวัดแสงในพื้นที่ของตนเอง แล้วนำค่าแสงมาประมวลผลเพื่อหาความเปรียบต่างความสว่างของพื้นที่จุดสนใจ ความสว่างของพื้นที่ส่วนใหญ่ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะภาพที่ควรจะเป็น และกำหนดค่าการเปิดรับแสงออกมา เป็นระบบวัดแสงที่ทันสมัยและชาญฉลาดมากที่สุด เหมาะกับการถ่ายภาพในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล ภาพเคลื่อนไหว ภาพกลางคืน ภาพมีความแตกต่างของแสงมาก ๆ สามารถวัดแสงได้แม่นยำ เหมาะกับการถ่ายภาพที่ต้องการความรวดเร็ว หรือผู้ใช้ไม่ชำนาญในด้านการวัดแสงมากนัก แต่ถ้าแสงมีความเปรียบต่างสูงอยู่ในภาพต้องระวังความผิดพลาด         การวัดแสงระบบนี้จึงเหมาะสำหรับการถ่ายที่มีแสงเฉลี่ยทั้งภาพเท่าๆ กัน เช่น ภาพทิวทัศน์, ภาพที่ต้องการความรวดเร็วในการถ่ายภาพโดยไม่ต้องการวัดแสงละเอียดมากนักจำพวกภาพงานพิธีต่างๆ แบบเฉพาะส่วนกลางภาพ(Partial Light-Metering)         มีวงกลมหนึ่งวงอยู่กลางกรอบสัญลักษณ์คล้ายระบบวัดแสง แบบเฉพาะจุดแต่จะใหญ่กว่า โดยจะวัดแสงเฉพาะส่วนกลางภาพ ซึ่งพื้นที่ใหญ่มากกว่าการวัดแสง แบบเฉพาะจุด จึงให้ความแม่นยำสูง แต่ใช้งานยากพอๆ กับระบบเฉพาะจุดหากเป็นมือใหม่         การวัดแสงระบบนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่มีความเปรียบต่างของแสงค่อนข้างหลากหลาย และต้องการความแม่นยำในการถ่ายภาพ เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง แบบเฉพาะจุด (Spot Light-Metering)         เมื่อเลือกไปที่สัญลักษณ์จุดตรงกลางจะเป็นการวัดแสงจากพื้นที่ส่วนกลางภาพเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชำนาญในการถ่ายภาพ เพื่อความแม่นยำสูงมาก เพราะกล้องจะเน้นน้ำหนักไปยังตำแหน่งนี้ถึง 90% และบริเวณรอบๆเพียง 10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกล้องแต่ละรุ่นอีกด้วย         ดังนั้นการวัดแสงแบบนี้จึงมีความแม่นยำสูงที่สุด เหมาะสำหรับการถ่ายที่ตัวแบบมีฉากหลังที่สว่างมาก หรือมืดมากกว่าปกติ และย้อนแสง โดยให้เลือกวัดแสงในส่วนที่ต้องการให้แสงพอดี ระบบการวัดแสงทุกแบบใช้ค่าการอ้างอิงด้วยสีเทากลาง 18% เหมือนกันทุกรุ่น ทุกแบรนด์เป็นมาตรฐานสากล         ทั้งสองภาพใช้การวัดแสงแบบแบ่งพื้นที่ จึงต้องชดเชยแสงให้อันเดอร์ เพื่อให้ส่วนที่สว่างไม่โอเวอร์จนขาดรายละเอียด แต่ส่วนที่แสงส่องไปไม่ถึงก็จะยิ่งดำเข้มขึ้น โดยแสงแต่ละส่วนจะค่อยๆมีการไล่โทนจากอ่อนไปแก่ แต่ถ้าใช้การวัดแสงแบบเฉพาะจุดก็ไปเลือกพื้นที่ที่มีความสว่าง เพื่อหลอกให้กล้องเปิดหน้ากล้องแคบลง หรือเปิดความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น เช่น บริเวณท้องฟ้า ดังนั้นในส่วนหลังหน้าต่าง และหลังลูกกรงจึงมองไม่เห็นรายละเอียดตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า หากไปวัดแสงส่วนที่มืด เมื่อถ่ายภาพออกมาบริเวณที่สว่างอยู่แล้วก็จะยิ่งสว่างขึ้นไปกว่าเดิม อันมีผลจากการที่กล้องพยายามจะทำให้ส่วนมืดสว่างกว่าเดิมนั่นเอง         เห็นไหมครับว่าการวัดแสงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกฝน สะสมประสบการณ์ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อคุณมีความเข้าใจการใช้งานกล้องตัวโปรดแล้ว คุณจะก็สามารถถ่ายภาพความงามที่อยู่รออยู่ตรงหน้าได้อย่างมีความสุข
Back to top