เทคนิคเปล่งประกายด้วยการถ่ายภาพย้อนแสง

 
Canon PowerShot G16, F2.5, 1/160s, ISO125, AWB, Pattern Metering, Focal Length15mm
 
ภาพถ่ายมากมายสวยแต่ขาดเสน่ห์ไปอย่างน่าเสียดาย
เพียงเพราะยังไม่มีความเด่นพอที่จะดึงดูดสายตาจากผู้ชมภาพ
ตัวแบบสวยตัวช่างภาพก็ต้องค้นหามุมมองที่ดีออกมา
เทคนิคสุดยอดของมืออาชึพ คืออย่าไปกลัวเมื่อถึงเวลาต้องแหกกฎ
 
     ถ่ายภาพเป็นใหม่ๆใครๆก็มักบอกว่าห้ามถ่ายภาพย้อนแสงเดี๋ยวหน้าดำหมด หรืออย่าหันกล้องไปทางดวงอาทิตย์เดี๋ยวเซ็นเซอร์ไหม้ หากเป็นคนช่างสงสัยก็จะสอบถาม หรือทดลองด้วยตนเองว่าเพราะเหตุใดจึงมีคำบอกเล่าเช่นนั้นทั้งที่ก็มีภาพถ่ายสวยๆมากมายเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพย้อนทางกับแหล่งกำเนิดแสงไม่ว่าจะเป็นแสงจากด้านข้างหรือจากด้านหลัง
 
     ในแวดวงแฟชั่นเทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสงก็ถูกช่างภาพนำมาใช้บ่อยครั้งทั้งที่เห็นเป็นโครงสร้างเงามืด(Silhouette) และการใช้แสงแฟลร์(Flare) สร้างเอฟเฟ็กซ์ให้เกิดมิติภาพ แม้จะมีบางส่วนสูญเสียสีสันและคอนทราสต์ของภาพไปบ้างก็ตาม อีกแวดวงที่ใช้แสงจากธรรมชาติบ่อยจนชินตาก็เป็นการถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพแนวไหนเอฟเฟ็กซ์ที่ผู้คนชื่นชอบและนำไปใช้สร้างสรรค์ภาพกันอย่างแพร่หลาย คือ แสงที่ไล้ไปตามผิวของวัตถุที่เรียกกันว่าRim Light และแสงแดดที่สะท้อนเข้าหน้าเลนส์จนเกิดเป็นประกายเรียกว่า Star Light
 
RIM LIGHT…แสงหลังเรืองรอง
 
Canon PowerShot G16, F5.6, 1/100s, ISO100, Daylight WB, Spot Metering, -0.7stop, Focal Length30mm
 
     การถ่ายภาพธรรมชาติแนว “Pictorial หรือ พิศเจริญ” อาจารย์เชาว์ จงมั่นคง บัญญัติขึ้นโดยเลียนเสียงคำว่า Pictorial ในภาษาอังกฤษที่หมายความว่าคล้ายกับภาพวาด มีเรื่องราวเด่นชัด สามารถถ่ายทอดความรู้สึกทางอารมณ์และบรรยากาศได้อย่างซาบซึ้ง เป็นภาพถ่ายที่อุดมด้วยคุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ดูแล้วเกิดความเพลิดเพลิน ยิ่งพิศยิ่งเพลิน ดูแล้วอยากดูอีก โดยภาพที่มีแสงย้อนจากด้านข้าง ด้านบน ด้านหลังจะทำให้เกิดเงายาวขึ้นตามทิศทางตรงข้ามกับแสงบ้างก็เกิดเป็นเงาสะท้อนบนพื้นน้ำ  ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นการเพิ่มมิติให้กับภาพทั้งสิ้น
 
     เมื่อแสงกระทบกับวัตถุเราก็จะเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นที่ขอบผิวของวัตถุนั้น หรือเรียกทับศัพท์ว่า Rim Light มันช่วยให้ Subject โดดเด่นขึ้นมาจากฉากหลัง มีการไล่โทนจากสว่างไปหาส่วนมืดของภาพ เวลามองภาพก็จะค่อยๆพิจารณาในแต่ละส่วนว่ามีรายละเอียดอย่างไรมองกี่ครั้งก็ไม่รู้สึกเบื่อ นี่จึงเป็นเสน่ห์ของแสงที่ช่วยให้ภาพของคุณมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม...อยู่ที่จะนำมาใช้ตอนไหน...อย่างไร ให้เหมาะสมลงตัวกับภาพนั้นๆ
 
STAR LIGHT...ส่องประกายระยิบระยับ
 
Sony CyberShot RX10, F8, 1/2000s, ISO100, Daylight WB, Pattern Metering, Mode A, Focal Length73mm
 
     นักถ่ายภาพหลายท่านสงสัยว่าทำอย่างไรให้แสงเกิดเป็นประกายแฉกได้จะยากเกินไปสำหรับตนเองหรือเปล่าบอกได้เลยว่าง่ายมากเพียงแค่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน แล้วนำตัวเองไปยืนรอในตำแหน่งที่เอฟเฟ็กซ์จะเกิดขึ้นเท่านั้นเองแต่ก็ต้องตั้งค่ากล้องให้เหมาะสมด้วยเพื่อจะได้ไม่พลาดวินาทีสำคัญ
 
     ลำดับแรก เลือกโหมดถ่ายภาพของคุณไปที่โหมดM หรือโหมด A(AV) เพื่อควบคุมค่ารูรับแสงให้เปิดไปที่ F-Stop แคบๆ (ตัวเลขมาก) ตั้งแต่ F8 ขึ้นไป เมื่อแสงผ่านม่านรับแสง(Diaphragm) ของเลนส์ยิ่งมีจำนวนใบมากแสงก็จะยิ่งมีประกายแฉกที่สวยงาม สำหรับการวัดแสงควรชดเชยให้แสงติดทางโอเวอร์ไว้เพราะแสงจะหลอกเครื่องวัดแสงว่าสว่างมากแล้วถ้าเผลอกดชัตเตอร์ไปก่อนชดเชยแสงภาพก็จะออกไปในโทนมืด
 
     ลำดับถัดไป พยายามยืนตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงให้เฉียงทำมุมกับพื้นผิวที่ต้องการสะท้อนแสง จากภาพตัวอย่างใช้ผิวน้ำเป็นตำแหน่งกระทบแสงให้เกิดประกายบันทึกช่วงเวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น ถ่ายภาพจากบนตึกด้วยการซูมเลนส์เข้าไป หากต้องการถ่ายย้อนแสงตรงๆควรหาวัตถุมาบังดวงอาทิตย์เล็กน้อยเพื่อป้องกันดวงตา และช่วยให้แสงเกิดประกายงดงามขึ้น
 
     เทคนิคถ่ายภาพดีๆ ยังไม่หมดง่ายๆ กลับมาพบเทคนิคที่จะช่วยสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับภาพของคุณในระยะเวลาสั้นๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่สวยงามได้ใหม่ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน กับ BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด
 
Back to top