เทคนิคการเปิดค่ารับแสงอย่างไรให้แม่นยำ

 
Nikon D3300, AF-S DX Nikkor  55-300mm f/4-5.6, F5.6, 1/160s, ISO800, AWB, Pattern Metering
 
ความลับของมืออาชีพในการควบคุมกล้องให้ได้ตามต้องการ
คีอรู้จักแต่ละส่วนของอุปกรณ์ตนเองอย่างถ่องแท้
ผนวกกับพื้นฐานการถ่ายภาพที่นักถ่ายภาพทุกคนก็รู้
แต่ใครสามารถนำมาสร้างสรรค์ได้ถูกที่ถูกเวลากว่ากันเท่านั้นเอง
 
     IMAGE ที่ดีจะมาพร้อมการเปิดค่ารับแสงกล้องที่พอเหมาะพอเจาะแต่ภาพไหนถึงเรียกว่าพอดีมักเป็นประเด็นถกกันในวงสนทนาของนักถ่ายภาพเสมอด้วยประสบการณ์ที่พบมาแตกต่างกัน ความงามของแต่ละบุคคลจึงไม่อาจนิยามมาตรฐานได้ชัดเจน โดยกล้องจะมีกลไกในการปรับค่าการรับแสงด้วยการเปิดรูรับแสง (Aperture Priority) ,การปรับค่าความไวชัตเตอร์ (Shutter Speed Priority) และการตั้งค่าความไวแสง (ISO Sensitivity) ผสมผสานกันจนเกิดเป็นภาพถ่ายซึ่งสามารถทำทั้งแบบอัตโนมัติ (Automatic) หรือควบคุมด้วยตนเอง (Manual)ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความต้องการที่จะสื่อสารให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรขึ้นมาในรูปแบบของศิลปะ
 
     ลองติดตามดูว่าคุณสามารถทำให้ภาพสวยงามจากการเปิดค่ารับแสงอย่างไรได้บ้างจึงจะเกิดความแม่นยำแม้จะเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพไม่กี่นาทีให้มีประสิทธิภาพสูงเหมือนรู้จักการถ่ายภาพมานาน...
 
 
Live View…เห็นอย่างไร ก็กดชัตเตอร์ได้เลย
 
 
     โหมดถ่ายภาพอะไรก็ไม่สำคัญ...เพียงรู้ว่าจะควบคุมอย่างไรให้ได้ภาพตามที่คิดเอาไว้ก่อนกดชัตเตอร์ ในกล้องถ่ายภาพแต่ละประเภทตอนนี้สามารถมองเห็นภาพจริงก่อนบันทึกภาพผ่านจอ LCD หรือเล็งผ่านช่องมองภาพแบบ Electronic Viewfinder (EVF) ได้ทั้งนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับนักถ่ายภาพมือเริ่มต้นที่กำลังสั่งสมทักษะการถ่ายภาพด้วยตนเองอยากจะปรับค่ารูรับแสง ค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือค่าความไวแสงก็สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทันทีแม้ไม่กดชัตเตอร์เพียงทำการบ้านก่อนว่าอยากได้ภาพอย่างไร...แล้วต้องไปปรับอะไรบ้างเพื่อให้ผลลัพธ์ตามต้องการอย่างถูกทิศทางไม่เสียเวลาจนทำให้ตัวแบบหายไปเสียก่อน
 
     เมื่อมีเทคโนโลยีมาช่วยให้ง่ายอย่างนี้หลายท่านอาจมองว่าถ้าอย่างนั้นเสน่ห์ของภาพถ่ายก็ไม่มีเหลืออีกแล้วเพราะใครก็สามารถทำได้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วต้องบอกว่าสุดท้ายก็ต้องอาศัยระยะเวลาการเรียนรู้เป็นสำคัญเพียงแต่เร็วขึ้น และ สามารถเรียนรู้ ทดลองได้ด้วยตนเองในที่สุดก็จะเข้าใจ ว่าแท้จริงแล้วการถ่ายภาพก็เป็นศาสตร์ที่มีรากลึกการจะเข้าถึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่จะเรียนรู้จบภายในระยะเวลาอันสั้นเพราะสามารถพลิกแพลงสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นภาพต่างๆ ได้หลากหลาย
 
 
Metering…เลือกอย่างไรให้แม่นยำ
 
 
     Metering หรือเรื่องการวัดแสงเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่ากล้องทุกตัวผลิตออกมาต้องมีเซ็นเซอร์ทำหน้าที่ในการคำนวณปริมาณแสงสะท้อนจากวัตถุก่อนที่แสงจะผ่านไปตกยังเซ็นเซอร์รับภาพที่มีเครื่องอ่านค่าปริมาณแสงซึ่งมองทุกอย่างเป็นภาพ ขาว - ดำ โดยจะมีค่าโทนกลางที่เรียกว่า “เทากลาง 18%” เป็นมาตรฐาน เนื่องจากภาพ (วัตถุ) ส่วนใหญ่จะสะท้อนแสงกลับมา 18%
 
     โหมดการวัดแสงหลักที่ใช้ในกล้องดิจิตอลมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ แบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ (Multi-Zone), แบบเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-Weight) และแบบเฉพาะจุด (Spot) ในแต่ละแบรนด์กล้องอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องเดียวกันในเรื่องของพื้นที่การอ่านค่าแสงยิ่งมีพื้นที่การอ่านค่าแสงมากก็มีโอกาสอ่านค่าผิดพลาดได้มาก หากพื้นที่นั้นมีความแตกต่างของแสงมาก ในสถานการณ์เช่นนี้ การเลือกพื้นที่เล็กๆ เฉพาะส่วนมาวัดแสงจะมีความแม่นยำในการแสดงค่ามากกว่าแบบอื่น
 
     แล้วทำไมต้องมีระบบการวัดแสงหลายแบบ...เพราะความยากง่ายของการใช้งานแตกต่างกันไม่มีแบบหนึ่งแบบใดดีที่สุดเสมอไป นักถ่ายภาพเองจะเป็นผู้กำหนดเองได้ดีที่สุด เรื่องที่คู่กับการวัดแสง คือการชดเชยแสง (Exposure Compensation) ที่มีค่าทางบวก และทางลบ สำหรับการปรับค่ารับแสงให้ถูกต้องตามที่ตาเห็น หรือตามที่คุณชอบ อาทิ ต้องการให้ภาพบุคคลมีผิวขาวขึ้นก็ควรชดเชยแสงไปทางบวกเพื่อให้สว่างขึ้น หรือต้องการถ่ายภาพวัตถุสีเข้มให้เข้มสมจริงก็ควรชดเชยแสงไปทางลบมิเช่นนั้นอาจทำให้ภาพดูซีดจางกว่าความเป็นจริง
 
 
     เทคนิคถ่ายภาพดีๆยังไม่หมดง่ายๆ กลับมาพบเทคนิคที่จะช่วยสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับภาพของคุณในระยะเวลาสั้นๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่สวยงามได้ใหม่ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน กับ BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด
 
Back to top