10 เทคนิค เปิดมุมมองการถ่ายภาพทะเลแบบใหม่ ให้สวยแปลกตา

หลังจากอัดอั้นกับการเที่ยวกันมานาน ช่วงนี้หลายคนก็เริ่มออกเดินทางชดเชยกับช่วงเวลาครึ่งปีที่เสียไปแล้ว ซึ่งจุดหมายหนึ่งที่ฮอตฮิตมากในตอนนี้คงหนีไม่พ้นทะเล ที่เดินทางง่าย ไม่ต้องลางาน เพราะแค่เสาร์อาทิตย์ก็ไปได้แล้ว สำหรับการถ่ายภาพทะเล ว่ากันตามตรงคือทะเลเป็นบริเวณที่มีทัศนียภาพและแสงที่น่าสนใจซึ่งมอบโอกาสมหัศจรรย์มากมายในบรรดาช่างภาพได้ลั่นชัตเตอร์กัน แต่การถ่ายภาพทะเลนั้นก็มีความท้าทายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสียหายต่อกล้อง ประเด็นความเป็นส่วนตัว และการทำให้บริเวณกว้างโล่งนั้นดูน่าสนใจขึ้นมา วันนี้เราจึงมี 10 เทคนิคที่จะช่วยเปิดมุมมองการถ่ายภาพทะเลมาฝากกัน

 

1. มองหาจุดโฟกัส

Cr. Mo

เรามาเริ่มต้นจากการสร้างความน่าสนใจให้ภาพถ่ายทะเลของคุณกันดีกว่า บางคนอาจบอกว่าการถ่ายทะเลนั้นไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาน่าสนใจเพราะรูปที่ได้ก็มักเป็นรูปแนวเดิมๆ แต่รู้ไหมว่าปัญหานี้จะหมดไปขอแค่คุณรู้จักมองไปให้ไกลกว่ามุมเดิมที่คุ้นเคยเท่านั้น ปัญหาหลักที่หลายคนเจอคือถึงแม้ทัศนียภาพจะดูสวยงาม แต่ความกว้างเวิ้งว้างก็อาจทำให้รู้สึกเบื่อได้ ดังนั้น เราขอแนะนำให้คุณมองหาจุดสนใจหรือที่เรียกว่า focal point ให้ภาพ เพราะการหาจุดสนใจนั้นจะเป็นเหมือนจุดพักสายตาซึ่งทำให้ภาพดูมีอะไรมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แพทเทิร์นบนทราย รอยเท้าคนบนทราย จังหวะที่คลื่นซัดกระแทกโขดหิน เป็นต้น หรือจะลองดึงเอาสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวมันเอง เช่น ปราสาททรายหรือแว่นกันแดดมาเป็นจุดโฟกัส ก็จะช่วยให้ภาพของคุณดูมีอะไรมากขึ้น ที่สำคัญการโฟกัสสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ละเมิดเรื่องความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นด้วย

Cr. Pixabay

Cr. Julia Kuzenkov

 

2. ช่วงเวลาคือสิ่งสำคัญ

Cr. Jimmy Conover

ที่จริงแล้วทะเลถือว่าเป็นที่ที่เราสามารถกดชัตเตอร์ได้แทบทุกช่วงเวลาด้วยความที่ในแต่ละช่วงเวลาก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับใครที่อยากทำให้ภาพของคุณดูน่าสนใจ นุ่มนวลชวนฝันกว่าที่เคยเราขอแนะนำให้คุณลองถ่ายในช่วงเวลาที่แสงเป็นสีทอง (golden hour) ซึ่งคือช่วงเริ่มต้นวันใหม่และตอนเย็นย่ำใกล้หมดวันนั่นเอง เพราะแสงนั้นถือเป็นคีย์สำคัญของการถ่ายภาพ ดังนั้นเราจึงควรรู้จักการเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม สำหรับช่วงที่เรียกว่า golden hour จะเป็นช่วงแสงสีทองนวลที่ยังไม่จัดมาก ซึ่งจะทำให้ภาพที่ได้นั้นดูนุ่มนวล มีแสงสีทองอร่าม ยิ่งถ้าคุณมีมุมที่เล็งไว้อยู่แล้วแต่ยังไม่รู้จะถ่ายจังหวะไหนดี การถ่ายภาพในช่วง golden hour จะช่วยทำให้แสงและเงาในภาพของคุณดูสวยเป็นพิเศษ เป็นเหมือนสูตรโกงที่ช่วยยกระดับภาพถ่ายของเราได้อีกขั้นเลยทีเดียว แถมมันยังเป็นประโยชน์ในแง่อื่น เช่น ช่วงเช้าตรู่มักจะเป็นเวลาที่คนไม่เยอะ (หรืออาจจะไม่มีเลย) ทำให้หมดปัญหาการอยากถ่ายภาพกว้างๆ โล่งๆ แต่ติดคนไปได้ เป็นต้น

 

3. สร้างลูกเล่นด้วย Shutter speed

Cr. Pok Rie

ปกติแล้วเวลาถ่ายภาพทะเลเรามักจะเลือกใช้ shutter speed หรือความเร็วชัตเตอร์ที่ค่อนข้างสูง เพราะทะเลเป็นบริเวณที่มีความสว่างค่อนข้างสูงทีเดียว แต่รู้ไหมว่าการใช้ Shutter speed ช้าๆ นั้นเป็นวิธีการที่แสนมหัศจรรย์ในการทำให้รูปของคุณยิ่งสวยจนต้องอ้าปากค้างเลย เพราะการตั้งค่า shutter speed ช้าๆ จะช่วยให้คุณหน่วงหมู่เมฆให้เคลื่อนช้าลงกว่าเดิม หรือจะทำให้คลื่นซัดใส่ชายฝั่งอย่างนุ่มละมุนอย่างที่ต้องการ ที่สำคัญการใช้เทคนิคนี้จะยิ่งสร้างการเคลื่อนไหวให้ภาพถ่ายของคุณได้มากขึ้นด้วยในกรณีที่คุณมีจุดโฟกัสแจ่มๆ เช่น ก้อนหิน เก้าอี้ หรือสิ่งปลูกสร้างอยู่แล้ว สำหรับคนที่ยังไม่มีไอเดียว่าควรตั้งค่า speed shutter อย่างไรดี เราขอแนะนำตามหลักการทั่วไปว่าถ้าอยากให้การเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ในภาพดูเบลอเล็กน้อย คุณควรตั้งค่า shutter speed ไว้ที่ ⅛ ถึง ½ แต่ถ้าคุณต้องการได้ภาพที่น้ำทะเลดูเบลอนัวเราขอแนะนำให้ตั้งค่าไว้ที่ 15-30 วินาที และในกรณีที่คุณต้องการให้คลื่นที่ซัดเข้ากระทบฝั่งดูสมูทโดยสมบูรณ์แบบราวกับปุยเมฆ ก็ควรตั้งค่า shutter speed ให้มากกว่า 30 วินาทีขึ้นไป

แน่นอนว่าถ้าต้องการตั้งค่า shutter speed ช้าแบบนี้ ก็อย่าลืมพกขาตั้งกล้องไปด้วยนะ

Cr. Pok Rie

 

4. ระวังแนวเส้นขอบฟ้า

Cr. Sean O.

ด้วยความที่ทะเลหรือชายหาดนั้นเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้างจนสุดสายตา มีเพียงเส้นขอบฟ้าเป็นเส้นนำสายตาเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในปัญหาคลาสสิคของการถ่ายภาพทะเลคือผู้ถ่ายมักจะโฟกัสกับองค์ประกอบอื่นจนลืมตรงจุดนี้ไป ซึ่งการที่เส้นขอบฟ้าเอียงหรือเบี้ยวนั้นสามารถส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมภาพได้เลย ดังนั้น เวลาถ่ายภาพทะเลเราขอแนะนำให้คุณตั้งเส้นขอบฟ้าให้อยู่ในระนาบตรงและจัดให้มันเป็นเหมือนกรอบสี่เหลี่ยมก่อนจะสร้างองค์ประกอบอื่นลงไปเสริมเสมอ ใดๆ ก็ตามขอกระซิบว่าพยายามพิจารณาการวางขอบฟ้าเอาไว้กลางเฟรมนะ เพราะการที่เส้นขอบฟ้าอยู่กลางเฟรมพอดีจะทำให้ภาพนั้นรู้สึกเหมือนถูกหั่นออกไปครึ่งหนึ่งเลย

 

5. ลองมองหาดอกไม้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ

Cr. alice kang

เชื่อว่าหลายคนเวลานึกถึงการถ่ายภาพทะเลส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงหาดทราย สายลม และแสงแดด แต่เราอยากแนะนำเคล็ดลับว่าที่จริงดอกไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณชายหาดก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยดอกไม้ที่ขึ้นตามชายหาดส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อความร้อน ลม และความเค็มจากทะเลทำให้อาจจะไม่ใช่ดอกไม้ดอกใหญ่หรือดูหวือหวามากนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยให้ภาพถ่ายทะเลของคุณดูแตกต่างและฉีกไปจากกรอบภาพจำแบบเดิมๆ ได้อีกด้วย สำหรับวิธีการถ่ายรูปดอกไม้ที่ขึ้นริมชายหาดให้ดูน่ารักและมีมุมมองน่าสนใจนั้นเราขอแนะนำให้ถ่ายตามความสูงของมันเลย ซึ่งถ้าไปเจอบางสายพันธุ์ที่ไม่สูงมากก็อาจจะต้องย่อตัวกันสักหน่อย เลือกถ่ายเป็นภาพแบบ medium shot หรือ close-up แล้วตั้งค่า f stop กว้างๆ เพื่อให้ฉากหลังดูละลายเบาๆ ช่วยทำให้ภาพดูมีมิติมากยิ่งขึ้น แต่อย่าลืมถ่ายให้ติดบรรยากาศรอบๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือดอกไม้ริมทะเลด้วยนะ


6. ถ่ายภาพแบบ Silhouettes

Cr. Andre Benz

ด้วยความที่ชายหาดนั้นเป็นพื้นที่เปิดซึ่งเอื้อต่อการถ่ายภาพแนวนี้มาก จึงไม่แปลกใจที่คนมักจะนิยมถ่ายภาพแบบ Silhouettes กัน โดยภาพที่เรียกว่า Silhouettes หรือซิลลูเอทที่เราเรียกกันก็คือภาพที่เป็นโครงร่างของเงา เป็นภาพสีดำทึบที่ไม่เห็นรายละเอียดของตัวแบบ นั่นเอง การถ่ายภาพแบบซิลลูเอทนั้นสะดวกตรงที่สามารถถ่ายได้ตลอดเวลาที่พระอาทิตย์ยังคงฉายแสง แต่ถ้าเริ่มถ่ายตอนที่พระอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าก็จะง่ายขึ้นมากๆ ทีเดียว

การถ่ายภาพซิลลูเอทนั้นให้ความรู้สึกที่ดูเร้าใจที่สุด สำหรับวิธีการถ่ายคือต้องให้ตัวแบบอยู่ตรงกลางระหว่างกล้องกับแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งก็คือแสงอาทิตย์ จากนั้นก็ตั้งค่า exposure หรือค่าการเปิดรับแสงโดยอ้างอิงจากแสงของฉากหลัง โดยการตั้งค่าเช่นนี้จะส่งผลให้ตัวแบบที่อยู่ด้านหน้าแหล่งกำเนิดแสงมืดลงไปโดยอัตโนมัติจนเกิดเป็นภาพซิลลูเอทนั่นเอง แต่ถ้าต้องการให้เห็นรายละเอียดของตัวแบบอยู่บ้างก็สามารถปรับ exposure เพื่อเพิ่มความสว่างให้แก่ตัวแบบก็ได้

Cr. Tomas Jasovsky

 

7. ลองถ่ายภาพแบบคร่อมแสงดูบ้าง

Cr. Jacub Gomez

หนึ่งในความท้าทายของการถ่ายภาพทะเลซึ่งส่วนมากเป็นบริเวณที่มีแดดจัดก็คือ ภาพที่ได้จะค่อนข้างสว่างจ้ามากๆ ในกรณีที่กล้องของคุณเป็นการตั้งค่าแบบอัตโนมัติ ตัวกล้องจะคำนวณค่าการวัดแสงให้ต่ำกว่าปกติหรือที่เรียกว่า under exposure เพื่อให้ภาพออกมามีความสว่างอยู่ในระดับกลางๆ แต่หากกล้องของคุณสามารถตั้งค่าแบบแมนนวลได้ เราอยากชวนให้คุณมองข้ามหลักการของการวัดแสงแล้วลองมาตั้งค่า exposure หรือการเปิดรับแสงหลายๆ แบบตั้งแต่ under ไปจนถึง over แล้วกดถ่ายดู วิธีนี้จะทำให้คุณได้พบกับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ด้วย มันเป็นเหมือนโจทย์ที่คุณต้องหาคำตอบให้เจอว่าบริเวณไหนในภาพที่คุณอยากให้แสงเป็นอย่างไร ลองเริ่มต้นจากการหาจุดโฟกัสให้เจอแล้วลองตั้งค่าดูนะ

 

8. ใช้การวัดแสงแบบจุด (Spot Metering )

Cr. Vincent Gerbouin

หากกล้องของคุณมีระบบวัดแสงแบบจุด คุณก็สามารถเอาชนะปัญหาเรื่องการวัดแสงบางอย่างที่กล่าวมาในข้างต้นไปได้ การวัดแสงแบบจุดนั้นใช้สำหรับเวลาที่เราต้องการวัดแสงในจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นฟีทเจอร์ที่คุณสามารถบอกกล้องได้ว่าต้องการให้บริเวณไหนของภาพมีการวัดแสงที่ดี ซึ่งผลที่ออกมานั้นก็ค่อนข้างดีเลยทีเดียว การวัดแสงในลักษณะนี้มีประโยชน์มากโดยเฉพาะกับการถ่ายภาพในพื้นที่ที่มีแสงสว่างจ้าอย่างทะเล แต่คุณก็ต้องการให้หลงเหลือพื้นที่ที่เป็นแสงเงาไว้บ้าง คุณสามารถเลือกจุดตอนตั้งค่าได้ว่าอยากให้บริเวณไหนสว่าง หรือบริเวณไหนเป็นเงา ที่สำคัญการวัดแสงในลักษณะนี้ก็มีประโยชน์มากในกรณีที่คุณต้องการถ่ายภาพบุคคลหรือ portrait เพราะโดยทั่วไปแล้วเราก็มักจะเลือกให้ตัวแบบหันหน้าเข้าหาแสง จนบางครั้งอาจทำให้ตัวแบบเกิดการหรี่ตาซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาที่ทำให้ภาพของคุณออกมาไม่ตรงตามใจ การวัดแสงแบบจุดจึงช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ไปได้ แต่น่าเสียดายที่กล้องในบางรุ่นอาจจะยังไม่รองรับฟีทเจอร์นี้

 

9. ใช้แฟลชช่วย

Cr. Natalya Zaritskaya

เชื่อว่าพอพูดถึงการถ่ายภาพทะเลหรือชายหาด หลายคนอาจไม่นึกถึงแฟลชด้วยซ้ำเพราะเรามักติดภาพจำว่าแฟลชมักถูกใช้เวลาที่มีแสงน้อยหรือเวลาถ่ายภาพกลางคืน แต่เราขอบอกเคล็ดลับเลยว่า การใช้แฟลชที่ทะเลเรียกได้ว่าเป็นสูตรโกงกันเลยทีเดียว การถ่ายภาพที่ทะเล โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพบุคคลนั้น ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือพอแสงจ้ามากๆ ตัวแบบในฝั่งที่แสงไม่ลงก็จะเกิดเงาที่จัดมาก และแฟลชคือวิธีแก้ปัญหาที่ดีและได้ผลเกือบจะทุกครั้งทีเดียว เพราะการใช้แฟลชนั้นช่วยลดเงาในบริเวณที่ไม่โดนแสง ซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดในภาพได้ชัดขึ้นและแสงของภาพก็ดูดีขึ้น วิธีนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เวลาที่คุณถ่ายภาพแล้วหันหาพระอาทิตย์โดยตรง ซึ่งถ้าไม่มีแฟลช ตัวแบบของคุณก็จะกลายเป็นเงาแบบซิลลูเอททันที ในกรณีที่สามารถตั้งค่าความแรงของแฟลชได้เราขอแนะนำให้ลองถ่ายด้วยความสว่างแฟลชระดับต่างๆ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้แฟลชระดับสูงสุดเพราะจะทำให้ตัวแบบดูสว่างจ้าเกินไปและไม่สมจริง แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องแสงแฟลชตกกระทบกับตัวแบบมากเกินไป วิธีที่เราอยากแนะนำคือไม่ใช่การลดความแรงของแฟลช แต่ให้ลองถอยออกจากตัวแบบ แล้วค่อยใช้การซูมเลนส์เข้าไปเพื่อให้ได้เฟรมแคบตามที่ต้องการ ซึ่งเราขอย้ำอีกทีว่าการทดลองตั้งค่าต่างๆ นั้นสำคัญจริงๆ ครับ

Cr. Andrew Coelho

 

10. ใช้ Polarizing Filters

Cr. Aaron Burden

สำหรับ Polarizing Filters นั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่มีประโยชน์ที่สุดของเลนส์กล้อง DSLR และเป็นหนึ่งในฟิลเตอร์สามัญประจำกระเป๋ากล้องของช่างภาพหลายๆ คนเลยครับ ในแง่หนึ่งนั้น ความเสียหายหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นของการพกกล้องไปถ่ายภาพที่ทะเลคือเม็ดทรายที่ถูกพัดเข้ามาใส่หน้าเลนส์ ซึ่งการใส่ฟิลเตอร์ให้เลนส์ก็สามารถป้องกันในจุดนี้ได้ ส่วนในแง่ของการทำงานนั้นเจ้าฟิลเตอร์ที่เรียกว่า Polarizing Filters จะช่วยลดสภาพขั้วบางอย่างของแสงหรือลดแสงสะท้อนต่างๆ ช่วยเพิ่มคอนทราสต์และทำให้ภาพมีโทนสีที่สดใสมากขึ้น ส่วนที่ได้รับเอฟเฟคของฟิลเตอร์ชนิดนี้มากที่สุดคือบริเวณของท้องฟ้าและน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญเลยทีเดียว ใครที่อยากไปลั่นชัตเตอร์กันที่ทะเลคราวหน้าก็อย่าลืมพกติดกระเป๋าไปนะครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับเคล็ดลับที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจลืมนึกถึงกันไปเลย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่หลงไหลการถ่ายรูปทุกท่านได้นำไปลองปรับใช้กันครับ

ที่มา : 10 Beach Photography Tips, 12 Tips for Beautiful Beach Photography

Back to top