ใช้งานกฎสามส่วนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ใช้งานกฎสามส่วนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ขอบคุณภาพจาก : real_ jansen https://unsplash.com/photos/4Ls-3ByBJCg
ขอบคุณภาพจาก : Harsh Raghavani https://unsplash.com/photos/SoN_wtpirDI
ขอบคุณภาพจาก : Hossein Moradi https://unsplash.com/photos/uE-TjDo477Y

  กฎสามส่วน และ จุดตัดเก้าช่อง เป็นเรื่องพื้นฐานที่ช่างภาพทุกคนควรรู้ เพราะนี่คือแนวทางสำคัญที่จะทำให้ช่างภาพจัดวางองค์ประกอบภาพได้ดีขึ้น และช่วยให้การลั่นชัตเตอร์แต่ละครั้งมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

     กฎสามส่วนสามารถใช้ได้กับภาพทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น Landscape, Portrait และอื่น ๆ อีกมากมาย และถึงแม้ว่าทุกภาพจะไม่ต้องใช้กฎสามส่วนเสมอไป แต่การเริ่มหัดถ่ายภาพด้วยการใช้กฎสามส่วนย่อมทำให้ภาพออกมามีคุณภาพที่ดีกว่าแน่นอน วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกฎสามส่วนให้มากยิ่งขึ้นกัน

กฎสามส่วนคืออะไร

ขอบคุณภาพจาก : Kevin Noble  https://unsplash.com/photos/gA3Qd2tquMc

     กฎสามส่วน คือ เส้นตรงแนวตั้งและแนวนอน 2 เส้น ที่เว้นระยะห่างเท่า ๆ กัน และลากตัดกันจนเกิดเป็นช่องสี่เหลี่ยมในเฟรมช่องมองภาพทั้งหมด 9 ช่อง มองง่าย ๆ คือเหมือนกับตาราง XO โดยจุดที่เส้นแนวตั้งและแนวนอนตัดกันจะมีทั้งหมด 4 จุด เรียกว่า “จุดตัดเก้าช่อง” 

     การใช้กฎสามส่วนจะช่วยสร้างสรรค์รูปภาพได้อย่างสวยงาม สมดุล และดึงดูดความสนใจใปที่วัตถุหลักให้เป็นจุดเด่นที่สุดของภาพ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและกลมกลืน ขณะที่การจัดวางวัตถุหลักตั้งไว้ตรงกลางของเฟรมจะทำให้ภาพไม่มีความสมดุลและดูน่าเบื่อ 
แน่นอนว่าองค์ประกอบภาพไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่สามารถดึงดูดสายตาของผู้ชมได้ แต่องค์ประกอบภาพที่ดีจะทำให้ภาพถ่ายของเรามีความพิเศษยิ่งขึ้น

กฎสามส่วนใช้งานอย่างไร

 
ขอบคุณภาพจาก : Harsh Raghavani https://unsplash.com/photos/VZCbiOlAPmE

 การใช้งานกฎสามส่วนให้มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่จัดวางวัตถุหลักในเฟรม ไม่ว่าจะเป็นคน, ดอกไม้, สัตว์ ฯลฯ ให้อยู่บนจุดตัดหรือเส้นฝั่งซ้ายหรือขวาของเฟรม ซึ่งนับเป็นพื้นที่หนึ่งในสามของภาพ โดยเทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับทั้งภาพแนวตั้งและแนวนอน

  โดยกฎสามส่วนให้ความสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ว่างรอบวัตถุ (Negative Space) เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาพดูโล่ง หรือที่หลายคนเรียกว่า “Breathing Room” ซึ่งพื้นที่ว่างรอบวัตถุจะช่วยดึงดูดสายตาให้อยู่ที่วัตถุหลักมากขึ้น

 สำหรับการถ่ายภาพ Landscape ช่างภาพมือใหม่หลายคนมักจะวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกลางเฟรม แต่นั่นจะทำให้ภาพขาดครึ่งและดูน่าเบื่อเพราะไม่มีอะไรโดดเด่น ดังนั้นควรวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรงเส้นแนวนอนด้านบนหรือด้านล่างแทน

 แต่ถ้าฉาก Landscape ไม่มีเส้นขอบฟ้า ให้ลองมองหาเส้นนำสายตาอื่น ๆ เช่น ถนน, แม่น้ำ หรือ ภูเขา และวางเส้นนำสายตานั้นให้ตรงตามเส้นแนวตั้งหรือแนวนอนของกฎสามส่วนแทน

ส่วนการถ่ายภาพ Portrait ควรจัดวางเฟรมให้ดวงตาของแบบอยู่ตรงกับเส้นแนวนอนด้านบน จะช่วยให้ผู้ชมมีโฟกัสไปกับภาพของเรามากยิ่งขึ้น

จำเป็นต้องใช้กฎสามส่วนทุกภาพไหม

ขอบคุณภาพจาก : Tommy Milanese https://www.pexels.com/th-th/photo/2704910/ 

แม้จะขึ้นชื่อว่า “กฎ” แต่ที่จริงแล้วกฎสามส่วนไม่ได้เป็นกฎที่บังคับตายตัวแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ไกด์ไลน์เท่านั้น เพราะบางภาพ บางสถานการณ์อาจไม่ต้องใช้กฎสามส่วนก็ได้ เช่น วัตถุสมมาตรที่มีความเหลี่ยมหรือกลม มักจะดูดีเมื่ออยู่ตรงกลางของเฟรม แถมช่างภาพบางคนยังมองข้ามเรื่องกฎสามส่วนด้วย เพราะพวกเขาคิดว่ามันจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพ และทำให้ภาพดูน่าเบื่อและซ้ำเดิมไม่ต่างกันกับการให้วัตถุหลักอยู่กึ่งกลางของภาพเลย 

ดังนั้นถ้าเข้าใจในเรื่องของกฎสามส่วนเป็นอย่างดี และลองใช้งานอย่างบ่อยครั้งแล้ว อาจจะลองใช้เทคนิคอื่น ๆ ดูบ้าง เพื่อพัฒนาฝีมือในการจัดองค์ประกอบภาพให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 

นอกจากกฎสามส่วนแล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพอีกมากมาย เช่น เส้นนำสายตา, ภาพสมมาตร หรืออัตราส่วนทองคำ (Golden Ratio) อย่างไรก็ตาม “กฎสามส่วน” เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและใช้งานได้จริง จึงเป็นที่นิยมของช่างภาพอย่างแพร่หลายนั่นเอง 

สำหรับช่างภาพมือใหม่ การใช้งานกฎสามส่วนจะช่วยให้คุณได้คิดเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพ มากกว่าแค่การกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเฉย ๆ ซึ่งการใช้กฎสามส่วนจะทำให้ภาพถ่ายของคุณดูดีขึ้น ขอแนะนำให้ทุกคนลองใช้กฎสามส่วนนี้ในการถ่ายภาพดู แล้วภาพถ่ายของคุณจะมีมิติและน่าสนใจมากยิ่งขึ้นแน่นอน 

บทความโดย John Tunney จากเว็บไซต์ petapixel.com
https://petapixel.com/rule-of-thirds/ 

Back to top