5 เคล็ดไม่ลับได้ภาพ Landscape สุดเจ๋ง

การถ่ายภาพ Landscape เป็นเทรนด์ที่ยังมีมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และในช่วงสิ้นปีแบบนี้ หลายๆคนคงวางแผนจะไปเที่ยวกันแล้ว บางคนจองตั๋วกันเป็นเดือนๆเลยทีเดียว สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ถ้าอยากลองถ่ายภาพ Landscape ณ สถานที่ท่องเที่ยวที่เราเฝ้ารอ ทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ดี ลองติดตามบทความนี้ดูครับ

เชื่อว่าหลายๆคนทั้งมือใหม่และช่างกล้องมืออาชีพต้องเคยอ่านบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพแนว Landscape กันมาแล้ว ไม่มากก็น้อย บางคนอาจจะคิดว่าคงไม่มีเทคนิคใหม่ๆมาให้ลองแล้ว แต่จริงๆแล้วยังมีทริคที่น่าทึ่งอีกมากมายเกี่ยวกับการถ่ายภาพแนว Landscape ให้ทุกคนได้ลองครับ เปิดใจให้กว้าง และคิดอย่างสร้างสรรค์ เพราะครั้งนี้เรามี 5 ทริค การยกระดับภาพแนว Landscape ให้เหมาะกับวันหยุดพักผ่อนสิ้นปีแบบนี้มาฝากครับ

cr. Tawheed Manzoor

cr. Samet Kilic

1. วางแผนก่อนหาโลเกชั่น

เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำครับ ไม่ว่าจะก่อนออกไปสำรวจโลเกชั่นหรือออกไปถ่ายจริง ถึงแม้สถานที่ที่เราเดินทางไปเที่ยวจะเป็นสถานที่ที่สวยมาก ติดอันดับที่เที่ยวยอดฮิต 1 ใน 10 ของโลก แต่ถ้าไม่มีการเตรียมตัวหรือหาทำเลเหมาะๆในการตั้งกล้อง ภาพที่ได้ก็จะดูเหมือนขาดบางสิ่งบางอย่างไปครับ ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนและศึกษาก่อนว่าเราจะเลือกโลเกชั่นไหน การถ่ายภาพ Landscape ไม่ใช่แค่เดินเที่ยวอยู่แล้วกดถ่ายได้เลย ต้องเตรียมตัว และเผื่อเวลาให้เยอะ เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะภาพที่เราได้จากการออกไปถ่ายเลย ไม่ได้สำรวจโลเกชั่นให้รอบคอบ กับการถ่ายที่เราวางแผน ศึกษาสถานที่อย่างถี่ถ้วนแล้ว จะต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ เราจะได้ภาพที่ emotional และสิ่งที่พ่วงมากับการสำรวจโลเกชั่นนั้นคือ เราสามารถประเมินได้ว่าสภาพแสง ณ ช่วงเวลานั้น จะได้ภาพที่เราต้องการไหม หรือพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ประโยชน์จากสภาพแสงลงไปในภาพให้ได้มากที่สุดครับ

cr. E Dagher

cr. Nick Savchenko

2.สื่อความรู้สึก

ทุกคนจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นเมื่อมองภาพๆหนึ่ง อาจเพราะว่า เคยไปสถานที่นี้มาก่อน เคยเกิดความรู้สึกดีๆที่นี่ รู้สึกประทับใจกับการจัดองค์ประกอบภาพของคนอื่นๆ หรือถ้าเป็นสถานที่ที่มี story โด่งดังไปทั่วโลก อย่างกำแพงเมืองจีน สิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ถ้าเราวางแผนและวางมุมกล้องดีๆ ก็จะให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ อลังการ หรือจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง ถ้าเราโฟกัสในเรื่องของกลุ่มคนจีนที่เป็นคนงานก่อสร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมา และต้องทำงานหนักจนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็จะให้ความรู้สึกอีก mood หนึ่งไปเลยครับ โดยสิ่งสำคัญเลยจะเป็นเรื่องของสภาพแสง ซึ่งถ้าสภาพแสงดีจัดองค์ประกอบให้แสงกระทบได้องศาพอดี จะสามารถดึง mood และความรู้สึกออกมาจากภาพได้ครับ หรือจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยก็ได้ครับ อาจเป็นยอดดอยในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าถ่ายให้เห็นเส้นขอบฟ้า วิวทิวทัศน์ขณะอยู่บนยอดดอย ก็จะให้ความรู้สึกเงียบ สงบ ปราศจากความวุ่นวาย เหมือนได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในวันหยุดสิ้นปีแบบนี้นั่นเองครับ

cr. valcker

cr. Thomas

3. รอจังหวะเหมาะ

การถ่ายรูปแนว Landscape สิ่งหนึ่งที่หลายคนควรรู้ คือ “การรอ” เนื่องจากเราไม่สามารถบังคับธรรมชาติให้เป็นดั่งใจต้องการได้ เราจึงทำได้แค่รอเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรอให้เมฆเคลื่อนตัวมาในจุดที่เราต้องการ ก้อนน้ำแข็งลอยมาในเฟรมภาพ รอให้รถประจำทางขับเข้าสู่เฟรมภาพเรา หรือรอให้แสงตกกระทบตรงตำแหน่งที่เราต้องการ บางทีอาจจะรอแค่ไม่กี่นาที หรือหลายๆ ชั่วโมงเลยก็ได้ บางคนเดินทางไปดูสถานที่ที่ต้องการถ่าย Landscape ตั้งแต่เช้าตรู่ แต่สภาพแสงยังไม่ตามที่ต้องการ ก็ต้องรอมาถ่ายอีกทีตอนช่วงเย็นของวันนั้น ขึ้นอยู่กับสถานที่ท่องเที่ยวที่เราเดินทางไปแต่ถ้าแลกด้วยภาพที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตเรา มันก็คุ้มค่าใช่ไหมครับ

cr. chilot

cr. Jean-Paul LONGCHAMP

cr. Matthias Ripp

cr. Rockwell McGellin

4. ลองอะไรใหม่ๆ

เป็นสิ่งที่ทุกสายงานในปัจจุบันจำเป็นต้องทำครับ และยิ่งในส่วนของการถ่ายภาพแนว Landscape นี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับว่า กล้าลองทำอะไรใหม่ๆกล้าคิดนอกกรอบไหม การลองถ่ายมุมมองใหม่ๆกับ Landscape อาจจะเป็นสิ่งสนุกและท้าทายที่สุดในชีวิตสำหรับบางคนเลยก็ว่าได้ครับ ยิ่งถ้าใครได้เดินทางไปเที่ยวหลายสถานที่ในช่วงสิ้นปีแบบนี้ อาจได้เป็นคนริเริ่มการถ่ายภาพ Landscape แบบที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนเลยก็ได้ครับ

ลองถ่ายในมุมมองใหม่ดูบ้าง อย่างถ่ายจากมุมสูง ถ่ายเสยขึ้นไปด้านบนก็ได้ หรือใครมีอุปกรณ์อื่นนอกจากกล้องคู่ใจ พกติดไประหว่างทริปหยุดยาวแบบนี้ก็ดีเลยครับ อย่างโดรนหรือไม้กันสั่นดีๆซักรุ่น ก็จะได้ภาพที่แหวกแนวไปจากการใช้มือถือกล้องถ่ายแบบปกติครับ เหมือนได้เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆและความ creative ที่เราถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย Landscape เหล่านี้ครับ

cr. Martin Fisch

cr. Martin Fisch

cr. Marco Verch

5. สร้างวิสัยทัศน์

ในการสร้างวิสัยทัศน์ให้รูปภาพ Landscape นั้น จะเป็นการสื่อว่าอยากให้รูปภาพบอกอะไรคนดู สร้างความรู้สึกร่วม และสร้างมุมมองใหม่ให้กับคนดู เปรียบเสมือนคนดูได้อยู่ในสถานที่นั้นขณะดูภาพ เราสามารถใช้เส้นนำสายตา หรือการจัดองค์ประกอบภาพ มาเป็นตัวช่วยในการสื่อความหมายครับ

โดยการจะสร้างวิสัยทัศน์หรือ vision นั้น เราต้องใส่ใจลงไปในภาพถ่ายครับ ควรเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจของเจ้าของภาพจริงๆ อาจเป็นมุมมองที่เจ้าของภาพมี หรือระสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาหลายปี เคยผ่านสิ่งต่างๆมาเยอะ แล้วถ่ายทอดมันลงให้ภาพถ่ายครับ เหมือนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรา สร้างความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครได้นั่นเอง เพราะประสบการณ์ที่เจ้าของภาพเคยพบเจอมา อาจเป็นเหตุการณ์สำคัญ มีผลต่อความรู้สึกของเจ้าของภาพครับ

cr. Damian Gadal

cr. Guilhem Vellut

cr. Eddy BERTHIER

 สรุป

ให้คิดไว้เสมอว่า ยังมีทริคอีกมากมายเกี่ยวกับการถ่ายภาพ Landscape เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งท้อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลาครับ บางคนได้เดินทางไปเที่ยวหรือพักผ่อนในสถานที่ที่แปลกตา ไม่เคยไปมาก่อนเลย แต่เราก็สามารถถ่ายภาพที่สมบูรณ์แบบได้ครับ ถ้ามีการเตรียมตัวและวางแผนก่อนจะเริ่มกดชัตเตอร์ ไม่สำคัญว่าเป็นตากล้องมือใหม่หรือมือโปรเลย เทคนิคใหม่ แปลก และสร้างสรรค์ อีกมากมายรอให้ทุกคนค้นพบอยู่นะครับ

cr. Tristan Loper

cr. Eric Krüger

cr. Tristan Loper

cr. Tristan Loper

cr. Tristan Loper

Back to top