Time-lapse คืออะไร มารู้จักให้มากขึ้นกัน!
Time-lapse คือ เทคนิคสุดคลาสสิคที่ช่างภาพทุกคนเคยต้องลองเล่น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรถยนต์ที่กำลังขับขี่อยู่บนท้องถนน หรือถ่ายท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆ สำหรับช่างภาพมือใหม่อาจยังไม่คุ้นชินกับวิธีการถ่ายแบบนี้นัก วันนี้เราเลยจะมาแชร์เทคนิคและเรื่องราวต่าง ๆ ที่คนรักการถ่ายภาพควรรู้เกี่ยวกับการถ่าย Time-lapse ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย!
ทำความรู้จักกับ Time-Lapse
ขอบคุณภาพจาก : Joey Kyber https://unsplash.com/photos/45FJgZMXCK8
การถ่าย Time-lapse เป็นเทคนิคที่ช่างภาพจะตั้งกล้องถ่ายภาพเฟรมเดียวกันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในเวลาปกติ จากนั้นมาทำให้ภาพที่ถ่ายนั้นเล่นเป็นวิดีโอตามลำดับอย่างรวดเร็ว โดยจุดประสงค์ของเทคนิคนี้คือการทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งของสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ส่วนใหญ่มักบันทึกภาพในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ในแบบที่สายตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้แบบทันที เช่น พระอาทิตย์ตก, พระอาทิตย์ขึ้น, การเคลื่อนที่ของดาวในช่วงค่ำคืน หรือ การเติบโตของต้นไม้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม Time-lapse ยังสามารถใช้ถ่ายวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วอยู่แล้วให้มีสปีดที่รวดเร็วยิ่งขึ้นได้อีกด้วย เช่น ผู้คนมากมายที่เดินตามสถานที่ต่าง ๆ หรือ รถยนต์ที่กำลังแล่นบนท้องถนน
ขอบคุณภาพจาก : Chloe Evans https://unsplash.com/photos/QVCLF6XpHSs
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
ขอบคุณภาพจาก : The Nigmatic https://unsplash.com/photos/YefEvN5CDLY
อย่างแรกเลยก็คือ กล้อง ซึ่งถ้าเป็นกล้องจำพวก DSLR หรือ Mirrorless จะช่วยให้เราใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยกล้องบางรุ่นถ้ามีฟีเจอร์ Time-lapse ในตัวก็จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นไปอีก ไม่ต้องพกอุปกรณ์ไปเยอะ ๆ แต่ถ้ากล้องของใครไม่รองรับฟีเจอร์นี้ แนะนำให้ใช้ Intervalometer ซึ่งจะเป็นรีโมตที่ช่วยให้กล้องสามารถถ่ายภาพแบบซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาที่เรากำหนดได้ โดยไม่ต้องกดชัตเตอร์ด้วยตัวเอง
อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ ขาตั้ง เพราะกล้องของเราจะต้องตั้งถ่ายในเฟรมเดิมเป็นเวลานาน ซึ่งการมีขาตั้งจะช่วยรักษาเฟรมให้มั่นคง และลดความเสี่ยงที่จะทำให้ภาพเบลอได้ รวมไปถึง ND Filter ที่เป็นเหมือนแว่นกันแดดของกล้อง เพราะมีหน้าที่ในการลดปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามา ช่วยให้เราสามารถปรับสปีดชัตเตอร์ได้ยืดหยุ่นมากขึ้น
และสุดท้าย คือ Memory card ที่มีความจุขนาดใหญ่ เพราะการทำ Time-Lapse จะต้องถ่ายภาพคุณภาพสูงจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเรื่องนี้ก็มีความสำคัญและไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
How to เตรียมความพร้อมก่อนถ่าย Time-lapse
ขอบคุณภาพจาก : Boris Stefanik https://unsplash.com/photos/q49CgyIrLes
ขั้นตอนแรก คือ การค้นหาสถานที่ที่เหมาะสม เพราะการถ่าย Time-lapse จะกินระยะเวลาที่นาน ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มถ่าย เราต้องค้นหาและเลือกสถานที่ให้ดีก่อน และพิจารณาว่าจะจัดเฟรมถ่ายภาพอย่างไร สภาพแสงดีแค่ไหน และเช็กให้ดีว่าจะมีอะไรมารบกวนระหว่างถ่ายหรือเปล่า
ต่อมาคือการเตรียมอุปกรณ์การถ่ายภาพให้ครบถ้วน และอย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าการถ่าย Time-lapse จะใช้เวลาถ่ายแต่ละครั้งค่อนข้างนาน หากต้องถ่ายในสภาพอากาศที่ร้อนก็ควรพกหมวกหรือครีมกันแดดติดไว้ แต่ถ้าอากาศหนาวจัด ก็ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือตุนเสบียงไปนั่งกินเล่นระหว่างถ่าย
และสุดท้ายก่อนจะเริ่มต้นถ่ายภาพ ต้องเมคชัวร์ว่าขาตั้งกล้องอยู่บนพื้นที่มั่นคง แข็งแรง ไม่ลาดเอียง ไม่อย่างนั้นเฟรมภาพอาจคลาดเคลื่อนและแตกต่างกันได้
ต้องตั้งค่ากล้องอย่างไร
ขอบคุณภาพจาก : Federico Bottos https://unsplash.com/photos/-ezztTh4rNI
เมื่อถ่าย Time-lapse ควรใช้งานในโหมด Manual หรือตั้งค่าด้วยตัวเอง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะถ้าใช้โหมด Auto กล้องจะปรับเองในแต่ละช็อต ทำให้แสงไม่เท่ากัน และภาพอาจจะไม่สมูท เป็น Time-lapse ที่ไม่สมบูรณ์ได้
การตั้งค่าเองอาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก โดยเฉพาะมือใหม่ แต่ขั้นตอนนี้จะทำให้เราได้แสงที่เหมาะสมและนุ่มนวลสำหรับการทำ Time-lapse
เริ่มต้นกันที่รูรับแสง ให้ลองตั้งค่ารูรับแสงที่จะมอบแสงได้เพียงพอ เพื่อทำให้วัตถุอยู่ในโฟกัสและมีระยะชัดลึกที่เหมาะสม รวมไปถึงสปีดชัตเตอร์ ควรเลือกให้เหมาะกับสิ่งที่เราต้องการ ถ้าอยากให้วัตถุหลักคมชัดควรใช้สปีดชัตเตอร์เร็ว ๆ ประมาณ 1/100 หรือเร็วกว่า แต่ถ้าอยากถ่ายให้เห็นถึงความคับคั่งของผู้คนหรือรถยนต์ ให้ลองตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ที่ 1/50 หรือต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ภาพมีความเบลอ สื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ดี
ในส่วนของ ISO การตั้งค่าจะขึ้นอยู่กับสภาพแสง แต่สำหรับ Time-lapse การปรับ ISO ให้ต่ำจะดีที่สุด เพราะจะช่วยลดสัญญาณรบกวนต่าง ๆ ได้ แต่ก็จะต้องอาศัยแสงที่เพียงพอ หรือถ้าถ่าย Time-lapse ในที่แสงน้อย ให้ตั้งค่า ISO สูงขึ้น เพื่อเพิ่มแสงให้กับภาพ แต่ก็อาจจะมีสัญญาณรบกวนที่มากขึ้นเช่นกัน
ตั้งค่าโฟกัสกล้องและเลนส์เป็นแบบ Manual เพื่อรักษาโฟกัสให้คงที่ในการถ่ายแต่ละช็อต ไม่ควรใช้ออโต้โฟกัส เพราะกล้องจะพยายามโฟกัสวัตถุใหม่ ๆ ระหว่างถ่าย ซึ่งไม่เหมาะเลยกับการถ่าย Time-lapse ที่จะต้องใช้วัตถุที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้คนหรือรถยนต์
และสำคัญที่สุด คือ Interval time หรือระยะห่างการถ่ายภาพในแต่ละเฟรม ให้คิดซะว่านี่คือจำนวนเฟรมต่อวินาที ควรพิจารณาจากความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ เพื่อเลือก Interval time ที่ถูกต้อง โดยถ้าเคลื่อนที่เร็วให้ใช้เวลาที่สั้นลง ประมาณ 1-3 วินาที หรือถ้าสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนที่ช้า ก็สามารถเลือก Interval time นานขึ้นได้ สามารถปรับได้สูงสุดที่ 30 วินาที
เรื่องราวของการถ่าย Time-lapse หลัก ๆ มีทั้งหมดประมาณนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะรู้จักและเข้าใจวิธีการถ่ายลักษณะนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างภาพมือใหม่ ลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ดูกันได้เลย แล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน
บทความโดย MasterClass จากเว็บไซต์ masterclass.com
https://www.masterclass.com/articles/how-to-shoot-time-lapse-photography