5 เคล็ดลับการถ่ายภาพในป่าให้ประสบความสำเร็จ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อาศัยหรือใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเมืองมาตลอด เมื่อเราเหนื่อยล้า แล้วคุณเดินเข้าป่า~ คุณอาจจะรู้สึกว่ากำลังอยู่ห่างไกลจากทุกสิ่งในโลกเดิม เหมือนคุณอยู่อีกโลกหนึ่งที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มองไปทางไหนก็เจอแต่ร่มไม้หนา มันเป็นความน่ากลัวและก็น่าตื่นเต้นที่ผสมกัน ซึ่งความกว้างใหญ่ของป่าสามารถสร้างภาพที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลึกลับซับซ้อน ที่หลากหลายได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเหตุผลที่การถ่ายภาพป่าไม้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้คุณจะเป็นคนที่ถ่ายภาพธรรมชาติอยู่แล้วก็ตาม แต่การถ่ายภาพในป่านั้นแน่นอนว่าไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบธรรมชาติที่คุณพบเจอบ่อยๆทั่วไป

ทุกครั้งที่คุณรู้สึกเหนื่อยล้า ต้องการพักผ่อน และอยากหลีกหนีจากความวุ่นวายต่างๆ หลายคนจึงเลือกที่จะเดินเข้าป่าเพื่อไปหาความเงียบสงบพร้อมกับกล้องคู่ใจ เรียกได้ว่าถ้าได้ลองเดินเข้าป่าไปสำรวจและถ่ายภาพแล้วนั้น คุณจะไม่สามารถหยุดตัวเองได้เลย ประสบการณ์จากการออกผจญภัยจะเป็นรางวัลที่ดีให้เราเสมอ รูปภาพของคุณจะดึงดูดผู้ชมและสร้างแรงบันดาลใจในการออกสำรวจและถ่ายรูปป่า เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

วันนี้ BIG Camera จึงมี 5 เคล็ดลับการถ่ายภาพในป่าให้ประสบความสำเร็จ มาฝากกัน

1.สิ่งของจำเป็นสำหรับการเข้าไปถ่ายรูปในป่า

กล้อง : สิ่งของสำคัญ ห้ามลืมเด็ดขาด (ไม่งั้นจะถ่ายรูปได้ไงล่ะ ปัดโถ่วว)

เลนส์หลายๆ ตัว : ควรพกมาทั้งเลนส์ไวด์ และเทเลโฟโต้ ถึงแม้ว่าเลนส์ไวด์จะเป็นสิ่ง สำคัญที่ใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ แต่ป่าไม้มีข้อจำกัดที่แตกต่างดังนั้นการนำเลนส์เทเลโฟโต้ไปด้วยอาจทำให้ภาพบางมุมที่ถ่ายออกมาได้ดี หรือหากคุณชอบถ่ายภาพโคลสอัพจะนำเลนส์มาโครติดมาด้วยก็ได้

ขาตั้ง : ต้องใช้ขาตั้งที่แข็งแรงและมั่นคงสำหรับการถ่ายภาพโดยเฉพาะ เพราะในป่าอาจจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้มากมาย

ฟิลเตอร์ CPL : เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณจับภาพสีสันที่ปรากฏขึ้นทำให้ภาพถ่ายของคุณดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นและยังสามารถช่วยลดแสงที่สว่างจ้าได้
ตรวจสอบให้แน่ใจว่านำอุปกรณ์ทั้งหมดใส่ไว้ในกระเป๋าเป้หรือกระเป๋ากล้องที่ทนทานครบรึยัง และนอกจากอุปกรณ์ทั้งหมดของคุณแล้วคุณยังต้องนำสิ่งของต่าง ๆ เช่นแผนที่ป่า เข็มทิศ อาหาร น้ำ ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก สเปรย์ป้องกันยุง/แมลง และครีมกันแดด ซึ่งเรื่องความปลอดภัยของคนต้องสำคัญเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าความปลอดภัยของอุปกรณ์เสมอ

 

2. การเลือกช่วงเวลาในการถ่ายภาพในป่า

ในการถ่ายภาพธรรมชาติโดยทั่วไป เราอาจจะต้องรอจังหวะเวลา เพื่อให้ได้แสงที่สวยงาม แต่การถ่ายภาพในป่านั้นคุณไม่จำเป็นจะต้องรีบไปแต่เช้าตรู่หรือรอช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เพราะการถ่ายภาพในป่านั้นคุณสามารถไปได้ทุกเวลาที่คุณต้องการ เว้นแต่คุณอยากจะเพิ่มความ Dramatic โดยใช้หมอกในยามเช้าตรู่ ทำให้องค์ประกอบของฉากหลังในภาพเป็นสีจาง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาพของคุณดูมีอะไรมากขึ้นและช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราวแก่ภาพได้ดียิ่งขึ้น

 

3. นำเสนอจุดเด่นด้วยการใช้เส้นนำสายตา

ในป่านั้นมีความกว้างใหญ่มาก จนบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกว่าไม่รู้จะต้องเริ่มต้นถ่ายภาพจากจุดไหนก่อน ให้ลองมองหาเส้นนำสายตา เช่น เส้นของถนน หรืออะไรก็ตามที่เรามองแล้วเป็นเส้นที่นำไปยังจุดเด่นที่เราอยากจะนำเสนอ ควรเริ่มจากขอบภาพเข้าไปยังจุดสนใจในภาพ และจุดสนใจก็มักจะอยู่บริเวณจุดตัด 9 ช่อง ที่มีการแบ่งสัดส่วนของภาพอย่างลงตัว จะทำให้ภาพโดดเด่น มีเรืองราวขึ้นมาเอง

 

4. ใช้ประโยชน์จากท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

ในขณะที่คุณเข้าป่าแล้วต้องเจอกับสภาพอากาศท้องฟ้าที่มืดครึ้ม คุณอาจจะคิดว่ามันคงจะทำให้ภาพถ่ายที่ได้ไม่สวยงาม ให้ความรู้สึกหดหู่ แต่แท้จริงแล้วเราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยท้องฟ้าที่มืดครึ้มนี่แหละ เป็นเอฟเฟกต์ที่ดีในการช่วยให้ภาพป่าของคุณสวยงามได้ แม้ภาพป่าของคุณจะมีเพียงแค่แสงอ่อนๆ ก็อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนให้เป็นภาพขาว-ดำ คุมโทน ซึ่งก็เป็นสไตล์ที่ให้ความลึกลับที่น่าค้นหาไปอีกแบบ และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจให้กับองค์ประกอบของภาพที่ไม่สมบูรณ์ได้อีกด้วย

 

5. ถ่ายสนุก ได้ทุกฤดูกาล

คุณสามารถไปถ่ายรูปในป่าเมื่อใดก็ได้ที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใด เช่นในฤดูร้อนจะให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา เพราะต้นไม้ในหน้าร้อนจะให้สีเขียวชอุ่ม ใบไม้มีความพลิ้วไหว ฤดูใบไม้ร่วง จะเติมเต็มภาพของคุณด้วยสีแดงและเหลืองจากใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีเพื่อจะผลัดใบเป็นสีขั้วตรงข้ามกันที่แสดงให้เห็นความแตกต่างที่สวยงามลงตัวเป็นอย่างมาก ฤดูใบไม้ผลิจะได้เห็นดอกไม้บาน และใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดใสอีกครั้ง ให้ความรู้สึกสดชื่นเหมือนได้เกิดใหม่ และฤดูหนาว คุณจะได้ภาพต้นไม้ใบไม้ที่เต็มไปด้วยน้ำค้างและแม่คะนิ้ง ปกคลุมใบไม้และต้นไม้จนขาวโพลนไปทั่วทั้งป่า สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเยือกเย็น อ้างว้าง หรือกำลังรอคอยได้เป็นอย่างดี

ที่มา : contrastly.com

 

Back to top