การตั้งค่าถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait)

Cr. Jorge Fakhouri Filho

พอร์เทรท (Portrait) ในมุมมองของคนทั่วไป คือ การถ่ายภาพคน ซึ่งจริงๆ ก็ถูกต้อง แต่นอกจากนี้ยังต้องลงเรื่องดีเทลการถ่ายเข้าไปด้วย เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟีลลิ่งที่ออกจากดวงตาของแบบ ดูภาพแล้วรู้สึกได้ว่าตัวแบบรู้สึกอะไร

Close-up, Medium Shot, Long Shot

Cr. Gabb Tapique, Matheus Henrin, Danielly Palmeira

และสิ่งที่หลายๆ คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถ่ายพอร์เทรท (Portrait) คือต้องเป็นการถ่ายคนครึ่งตัวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วจะถ่ายเต็มตัว หรือครึ่งตัว อย่างภาพด้านบนจะเห็นว่ามีการถ่ายคนหลายระยะ ไม่ว่าจะเป็น Close-up, Medium Shot, Long Shot จะเป็นคำเรียก เอาไว้สื่อสารระหว่างช่างภาพกับนางแบบ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเป็นการถ่ายพอร์เทรท (Portrait) ทั้งนั้น โดยจะมีองค์ประกอบหลักคือบุคคล แต่การถ่ายครึ่งตัว หรือเจาะเข้าไปช่วงไหล่และที่ใบหน้า จะทำให้เห็นแววตาได้อย่างชัดเจน ซึ่งการที่จะถ่ายทอดภาพนี้ออกมาได้ ต้องมีการตั้งค่ากล้องยังไงบ้าง

 

การตั้งค่าระบบโฟกัส

Cr. Aiony Haust

อย่างที่บอกไปว่า การภาพถ่ายพอร์เทรท (Portrait) นอกจากถ่ายคนแล้ว ยังต้องลงดีเทลเรื่องสายตาของแบบอีกด้วย เพราะดวงตาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำหน้าที่สื่ออารมณ์ และความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ Portrait ที่กล้องจะต้องโฟกัสเข้าไปที่ดวงตาของแบบ

อย่างแรกเลยที่ต้องทำ คือ เลือกโหมดโฟกัสให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งการถ่าย Portrait จะเป็นการถ่ายภาพนิ่ง

Cr. Filipp Romanovski

ให้เลือกใช้การโฟกัสแบบ Single Point หรือการโฟกัสที่จุดเดียว เหมาะกับการถ่ายภาพนิ่งอย่าง พอร์เทรท (Portrait) การใช้โหมดนี้เราจะสามารถกำหนดจุดโฟกัสที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเราเลือกไปที่ดวงตาบนจอ หรือเลื่อนจุดโดยใช้ปุ่มคอนโทรลบนกล้อง แล้วกดชัตเตอร์ไปครึ่งหนึ่ง กล้องก็จะโฟกัส เมื่อโฟกัสเข้าแล้วกล้องจะทำการล๊อกโฟกัสเอาไว้

หรือสำหรับกล้องที่มีฟังก์ชั่น Eye Focus Tracking หรือ Face Detection ก็ควรเปิดใช้ควบคู่ไปกับ โหมด Single Point ด้วย เพราะจะทำให้กล้องประมวลผลใบหน้าได้ง่ายขึ้น ทำให้การโฟกัสผิดพลาดน้อยลง แต่ถ้าถ่ายพอร์เทตแบบกลุ่มหรือ มีวัตถุที่คล้ายหน้าคน อาจจะทำให้กล้องโฟกัสผิดจุด เลยจะต้องระวังในการใช้งานฟังก์ชั่นนี้

แนะนำว่าถ้าอยากได้ภาพพอร์เทรท (Portrait) ที่สื่ออารมณ์ได้ดี จะต้องเช็คโฟกัสเสมอ ก่อนจะกดชัตเตอร์ เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดโฟกัสไม่เข้า หรือโฟกัสผิดจุดไปจากที่ต้องการได้

ต้องบอกก่อนว่าการตั้งค่ากล้องถ่ายพอร์เทรท (Portrait) จะคล้ายๆ กับการถ่ายทั่วไป ที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ต่อมาจะพูดถึง “Triangle Exposure” หรือ ความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อปริมาณแสงที่กล้องจะได้รับ ประกอบด้วย 3 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed), รูรับแสง (Aperture) และ ค่าความไวแสง (ISO) โดยทั้ง 3 ตัวแปรนี้จะทำงานด้วยกัน และส่งผลกับแสงในภาพ ถ้าค่าใดค่านึงเปลี่ยนไป ค่าอื่นๆ ก็ต้องปรับให้สัมพันธ์กันด้วย

โดยต่อไปเราจะแยกการตั้งค่าถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) เป็น 2 ส่วน คือ การตั้งค่าถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) ในที่ร่มหรือในที่แสงน้อยและถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) กลางแจ้ง ซึ่งทั้ง 2 การตั้งค่านี้ จะมีปัจจัยเรื่องสภาพแสงเข้ามาเกี่ยวข้อง เลยทำให้การตั้งค่าแตกต่างกัน

 

การตั้งค่ารูรับแสง (Aperture)

รูรับแสง หรือศัพท์ช่างภาพเรียกกันว่าค่า f ตัวนี้จะเป็นรูเล็ก ๆ ที่อยู่ในเลนส์กล้อง เอาไว้ควบคุมปริมาณแสงที่จะผ่านเข้าไป ค่า f ตัวเลขน้อย = แสงเข้ามาได้มาก และ ค่า f ตัวเลขมาก = แสงเข้าได้น้อย

ค่า f มาก(ละลายหลังน้อย), ค่า f น้อย (ละลายหลังเยอะ)

Cr. Jeff Vinluan, Anna Tarazevich

ในกรณีที่ต้องถ่ายในที่ร่ม หรือสถานการณ์ที่มีแสงน้อย แนะนำให้ใช้รูรับแสงกว้างประมาณ f1.2 เพราะในที่แสงน้อยแบบนี้ เราจะต้องใช้รูรับแสงกว้าง เพื่อเปิดรับแสงให้เข้ามาได้มากที่สุด

และจะเห็นว่าสีสันในภาพแต่ละภาพ ดูไม่ผิดเพี้ยน ก็เป็นเพราะว่าได้มีการตั้งค่าไวท์บาลานซ์ไว้ เช่นภาพบนซ้ายที่อยู่ในร้าน เราต้องสังเกตุลักษณะของไฟที่ใช้ในร้าน และเลือกการตั้งค่าไวท์บาลานซ์ ให้เหมาะสม จากตัวอย่างตั้งค่าไวท์บาลานซ์ไปที่ Fluorescent 4000-5000 K เนื่องจากในร้านใช้ไฟแบบ Fluorescent เพื่อให้กล้องประมวลผล และตัดสีสันที่ทำให้สีเพี้ยนออก ส่วนภาพขวาจะเห็นได้ว่ามีแสงแฟลชเข้ามาด้วย ตัวนี้จะตั้งค่าไวท์บาลาซ์ Flash จะปรับค่า WB ไปที่ 5000-5500 K เพื่อให้แสงและสีสันในภาพไม่เพี้ยน

Cr. Christopher Campbell

ส่วนถ้าถ่ายนอกอาคาร ที่มีแสงมากเพียงพออยู่แล้ว ก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องภาพมืด จะปรับรูรับแสงให้แคบลงประมาณ f4-5.6 เพื่อลดแสงเข้ามาในตัวกล้อง แต่ถ้าต้องการถ่ายตอนฟ้ามืดพอ หรือตอนมีเมฆมาก ก็ต้องปรับรูรับแสงให้กว้างขึ้น ซึ่งการตั้งค่าส่วนใหญ่จะปรับไปตามสถานการณ์

แต่ในกรณีที่ต้องการให้ฉากหลังละลายกว่านี้ แล้วเปิดค่ารูรับแสงที่กว้างเกินถึง f1.4 – f1.8 ถึงแม้ว่าจะได้ฉากหลังที่ละลายได้ดี แต่ต้องระวังเรื่องที่ทำให้ดวงตา หรือดีเทลบนหน้าเบลอ ดังนั้นต้องดูให้มั่นใจก่อนกดชัตเตอร์ว่าโฟกัสครบ แต่ถ้าถ่ายแล้ว ยังไงก็โฟกัสไม่ได้จริงๆ ก็ให้ปรับรูรับแสงให้แคบลง

การตั้งค่าค่าความไวแสง (ISO)

ค่า ISO หรือ ค่าความไวแสง จะต้องปรับเยอะหน่อยเวลาแสงน้อย-มืด หรือต้องการถ่ายภาพในเวลากลางคืน เพราะ ISO จะเป็นตัวเร่งความไวแสงให้มากขึ้น แต่ต้องระวังเมื่อตั้งค่า ISO สูงเกินไป จะเกิด Noise ในภาพ ทำให้ความคมชัดของภาพลดลง ซึ่งประเด็นที่สำคัญมากในการถ่ายภาพ คือ เราต้องการภาพที่คมชัด

Cr. Imansyah Muhamad Putera

ส่วนใหญ่การถ่ายที่ร่ม จะมีปัญหาเรื่องสภาพแสง แสงไม่พอ หรือแสงน้อย เราเลยจำเป็นต้องดัน ISO ขึน เพื่อช่วยให้ภาพสว่างขึ้น จะปรับอยู่ที่ประมาณ ISO 800 - 1600 แต่อย่าเพิ่งดัน ISO ไปสูงเลยทีเดียว เพราะอาจจะทำให้เกิด Gain และ Noise ได้ ให้ค่อยๆปรับ และดูว่าแสงพอหรือยัง

ข้อควรระวัง: ในสภาพแสงน้อยมากๆ หรือตอนกลางคืน ถ้าดัน ISO เยอะ จะเกิดจุดๆบนภาพ หรือที่เรียกว่า Gain

Cr. AdamLowly

แต่ถ้าใครกลัวว่าถ่าย Indoor หรือในสภาพแสงน้อยมากๆ การตั้งค่า ISO เยอะๆ จะทำให้เกิด noise หรือ gain แนะนำให้ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างประมาณ f1.4 – f1.8 จะทำให้ได้ปริมาณแสงที่เยอะ ทำให้ตั้งค่า ISO ให้น้อยๆ ได้ และหลีกเลี่ยงการเกิดจุดผิดพลาดในภาพ

มาถึงการถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) ในตอนที่เราไปถ่ายข้างนอกกันบ้าง ในสภาพแดดแรงๆ แสงจ้าๆ จะปรับค่า ISO ต่ำ เพราะแสงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดัน ISO ให้สูง เพราะจะยิ่งทำให้แสงในภาพโอเวอร์กว่าความเป็นจริง ให้ปรับประมาณ ISO 100 หรืออาจปรับให้มากขึ้นตามความเหมาะสาม จะอยู่ในช่วง ISO 100-400

 

การตั้งค่า Shutter Speed

การตั้งค่า Shutter Speed เพื่อควบคุมแสง คือ เมื่อความเร็วชัตเตอร์เยอะ ม่านจะปิดไว แสงผ่านจะเข้ามาในกล้องได้น้อย ส่วนความเร็วชัตเตอร์น้อย ม่านจะปิดช้า แสงก็จะผ่านเข้ากล้องเยอะ ซึ่งการตั้งค่า Shutter Speed จะขึ้นอยู่กับสภาพแสงที่เจอ

สำหรับการถ่ายในที่ร่ม แล้วมีอุปกรณ์เสริมอย่างขาตั้งกล้องด้วย จะปรับความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/15 วินาที ที่ปรับให้ช้าได้ เพราะขาตั้งกล้องมีประโยชน์ในการทำให้ภาพนิ่ง ถึงแม้จะตั้งม่านชัตเตอร์ให้เปิด- ปิดช้า ก็ไม่ทำให้ภาพเบลอ และในกรณีที่เราถือกล้องเอง หรือ handheld มือของเราก็จะไม่นิ่งเท่าขาตั้งกล้อง เพื่อให้ได้ภาพที่ไม่สั่นไหว และลดการเบลอได้ดี จะปรับความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/60-1/200 วินาที เพื่อให้ม่านชัตเตอร์เปิด - ปิดเร็วขึ้น แสงจะเข้าน้อย ทำให้ได้ภาพที่หยุดนิ่งดีกว่าใช้ Shutter Speed น้อยๆ

เปิด Shutter Speed ต่ำ ทำให้สามารถเก็บภาพนิ่ง หรือหยุดการเคลื่อนไหวได้ดี

Cr. Дина Буланова, Rachel Claire, Robi Pastores

กรณีที่ตัวแบบมีการแอคชั่น เช่น สบัดกระโปรง หรือเคลื่อนไหว เพื่อให้ภาพเกิดมูฟเม้นท์ การตั้งค่า Shutter Speed จะต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์เยอะ เพื่อให้กล้องจับภาพได้เร็วขึ้น โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/200 เพราะถ้าตั้งไว้ต่ำ ก็อาจจะทำให้เก็บภาพไม่ทัน แต่ในกรณีที่ปรับ Shutter Speed ก็ต้องกลับไปดูค่า ISO และรูรับแสงด้วยว่าสัมพันธ์กันไหม

การตั้งค่าการวัดแสง (Metering)

Cr. www.dam-photo.com

การตั้งค่าการวัดแสง คือ การดูว่าแสงที่เข้ามาในกล้องเยอะ น้อยแค่ไหน ทำให้ภาพที่ออกมาสว่างหรือมืด ซึ่งการถ่ายภาพในสมัยก่อน จะให้ความสำคัญกับการวัดแสงมาก ว่าแสงจะโอเวอร์ หรือติดอันเดอร์ไปมั้ย แต่ด้วยเทคโนโลยีในกล้องสมัยใหม่ที่มี Live view ทำให้กล้องประมวลผลส่งมาที่หน้าจอให้เราดูได้เลย แต่ก็ต้องระวังด้วย เพราะบางครั้งกล้องก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน

การวัดแสงมี 3 แบบ

  1. วัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ (Multi Zone Metering) - กล้องจะประมวลผลจากภาพ แล้วเฉลี่ยให้ทั้งภาพไม่มืดหรือสว่างเกินไป
  2. วัดแสงแบบเน้นกลางภาพ (Center-Weight Metering) - ตามชื่อเลยคือจะเน้นตรงกลางโดยเฉพาะ เป็นการวัดแสงแบบเก่า ที่เมื่อก่อนจะเน้นตัวแบบและวัตถุให้อยู่ตรงกลาง เลยเน้นแสงแบบวัดกลางภาพ
  3. วัดแสงเฉพาะจุดหรือเฉพาะส่วน (Spot Metering) - จะวัดแสงตามจุดที่กล้องโฟกัส

ถึงแม้ว่ากล้องรุ่นใหม่ๆ จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปแล้ว แต่ก็สามารถทำงานผิดลาดได้เหมือนกัน สำหรับใครที่ถ่ายแบบจริงจัง ก็ควรต้องระวังเรื่องนี้ไว้ด้วย

การตั้งค่าถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) เรียกได้ว่าไม่ค่อยแตกต่างจากพื้นฐานการตั้งค่ากล้องปกติมากนัก ซึ่งใครที่อยากได้ภาพที่มีองค์ประกอบภาพที่ดีขึ้น ก็ต้องเข้าใจและเรียนรู้เรื่องการตั้งค่ากล้องต่างๆเอาไว้ เพราะค่าแต่ละค่าสัมพันธ์กัน และส่งผลต่อภาพ แล้วการถ่ายภาพพอร์เทรท (Portrait) จะดีขึ้นอย่างแน่อน!

Back to top