เทคนิคจับภาพเมฆให้สวยสะกดทุกสายตา

เทคนิคจับภาพเมฆให้สวยสะกดทุกสายตา


     ช่วงนี้ฝนกำลังตกหนักทั่วไทย บ้านใครฝนไม่ตกเลยนี่แปลกมาก แต่ก่อนที่ฝนจะร่วงหล่นลงมา ก็ต้องมี “เมฆ” จำนวนมากบนท้องฟ้า เราจะสังเกตเองได้เลยว่าถ้าวันไหนเมฆเยอะ แถมสีมาแบบดำครึ้ม นี่แทบจะเดาได้ทันทีว่าฝนมาแน่ ๆ
     ในศาสตร์การถ่ายภาพ หลายคนมักคิดว่า “เมฆ” เป็นเพียงองค์ประกอบสำหรับภาพ Landscape เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วเมฆสามารถสร้างความรู้สึกให้กับภาพถ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน วันนี้เราจะขอมาแชร์เทคนิคการจับภาพเมฆให้สวยสะกดทุกสายตา มาทำให้เมฆเป็นตัวเอกของภาพกันเถอะ!

ลองหาความแตกต่างของก้อนเมฆ

ขอบคุณภาพจาก : Billy Huynh https://unsplash.com/photos/v9bnfMCyKbg

ก่อนจะเริ่มถ่ายภาพเมฆ เราต้องรู้จักประเภทของเมฆให้ดีก่อน เพราะเมฆมีหลากหลายประเภท ช่างภาพแต่ละคนก็จะต้องมีวิธีการถ่ายทอดภาพถ่ายในแบบของตัวเอง ใครอยากให้ภาพออกมาสวยสดใส ควรถ่ายภาพเมฆ Cumulus ซึ่งมักจะขึ้นตอนอากาศกำลังดี หรือถ้าอยากได้ภาพถ่ายที่ดูซีเรียสหน่อย ให้ลองถ่ายเมฆ Stratus ซึ่งจะมีสีเทาและแบนราบ แต่ถ้าอยากได้ภาพที่ดราม่ามากขึ้น ให้ถ่ายเมฆ Cumulonimbus หรือ Altostratus ซึ่งมักจะขึ้นในช่วงที่พายุฝนกำลังจะเข้า

ตั้งค่ากล้องให้เป๊ะ

ขอบคุณภาพจาก : Gursharndeep Singh https://www.pexels.com/th-th/photo/5310841/

สำหรับการถ่ายภาพเมฆ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคขั้นสูงใด ๆ มากมาย แต่ข้อนึงที่ห้ามทำเลยก็คือ การใช้โหมดออโต้ เพราะเราควรตั้งค่ากล้องด้วยตัวเองถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างแรกเลย คือ ISO ถ้าฟ้ายังสว่างอยู่ให้ตั้งค่าที่ 100 หรือถ้าฟ้าเริ่มมืดแล้วก็สามารถขยับเพิ่มได้มากสุดที่ 800 เพราะถ้ามากกว่านั้นอาจมีพวก Noise หรือ Grain ในภาพได้ ต่อมาตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/11 - f/16 แม้เลนส์ส่วนใหญ่จะมีขนาดรูรับแสงขั้นต่ำที่ f/22 แต่ก็ไม่แนะนำให้ตั้งค่าถึงตรงนั้น เพราะอาจเกิดการเลี้ยวเบนของแสงได้นั่นเอง การโฟกัสระยะชัดลึกจากค่า f ประมาณนี้จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าทุกอย่างในเฟรมภาพมีความคมชัด และสุดท้าย สปีดชัตเตอร์ สามารถตั้งค่าเป็นโหมด A (Aperture Priority) ให้กล้องกำหนดความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดในการถ่ายแต่ละภาพ

ใช้เทคนิค Long Exposure

ขอบคุณภาพจาก : Casey Horner https://unsplash.com/photos/u-lqIST2vvA

เทคนิค Long Exposure เป็นการตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ให้เปิดรูรับแสงเป็นเวลานาน จะมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพเมฆในช่วงแสงน้อย เทคนิคนี้จะทำให้เซนเซอร์เก็บแสงได้มากขึ้น และทำให้แสงเข้ามาพอดี ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะทำให้ภาพมีโอกาสเบลอ ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องดี แต่มันก็เป็นเอฟเฟกต์อย่างนึงที่จะส่งเสริมให้ภาพดูว้าวมากขึ้น ยิ่งเราเปิดรับแสงนานเท่าไร เมฆก็จะมีความเบลอมากเท่านั้น

ใช้ ND Filter

ขอบคุณภาพจาก : Robert Gareth https://unsplash.com/photos/9QQEhmSYTuU

ถ้าเกิดว่าฟ้ายังไม่มืดมากพอ เราก็จะยังใช้เทคนิค Long Exposure ไม่ได้ เพราะไม่งั้นการเปิดรูรับแสงนานจะทำให้ภาพมีแสงสว่างมากเกินไป แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เรายังสามารถใช้เทคนิคนี้ได้ เพียงแค่ใช้ ND Filter ซึ่งเป็นเหมือนกับแว่นกันแดดของเลนส์ ทำหน้าที่กรองแสงที่ผ่านเลนส์ให้เข้ามาอย่างจำกัด ช่วยให้ใช้สปีดชัตเตอร์ที่ช้าลงได้ สำหรับ ND Filter ถ้าตัวเลขยิ่งสูง ค่า f ก็จะยิ่งน้อยลง เช่น ถ้าใช้ ND2 ค่า f-stop จะลดลง 1 เป็นต้น ซึ่งการลดค่า f ยังส่งผลต่อสปีดชัตเตอร์ที่จะมีความเร็วลดลงอีกด้วย และถ้าใช้ ND Filter ที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยเพิ่มความสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพเมฆให้น่าทึ่งมากขึ้นอีกด้วย

ถ่ายเป็นแนว Landscape

ขอบคุณภาพจาก : Raychel Sanner https://unsplash.com/photos/MnnXMvs4cQo

ภาพ Landscape ที่มีก้อนเมฆสวย ๆ บนฟากฟ้า จะทำให้ภาพถ่ายสื่อถึงบริบทและเกี่ยวข้องกับผู้คนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะถ่ายกับต้นไม้, ภูเขา หรือตึกสูง แต่แน่นอนว่าถ้าเราโฟกัสไปที่การถ่ายเมฆ เราจะต้องทำให้พื้นที่ในภาพส่วนใหญ่เป็นท้องฟ้ามากกว่าพื้นดิน

ซูมเข้าไปให้ใกล้เมฆหน่อย

ขอบคุณภาพจาก : Jason Blackeye https://unsplash.com/photos/ap3LXI0fPJY

หลายคนอาจสงสัยว่าแค่ซูมกล้องเข้าไปใกล้หน่อยมันจะพิเศษกว่ายังไง แต่จริง ๆ แล้วมันจะให้มุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น ได้เห็นเมฆในระยะที่ใกล้มากขึ้น เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ได้คมชัด ซึ่งการซูมในหลากหลายระยะ จะให้ภาพเมฆในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป และเป็นเทคนิคสำคัญที่ทำได้ง่าย น่าลองไปใช้เองสักครั้ง

การถ่ายภาพเมฆไม่ได้ยากอย่างที่ใครหลายคนคิด เพียงแค่พกกล้องติดตัวไว้ พอเห็นเมฆสวย ๆ เมื่อไรก็ใช้เทคนิคเหล่านี้รังสรรค์ภาพถ่ายให้สวยอย่างใจต้องการได้เลย และอีกอย่างที่อยากจะฝากไว้ก็คือ ให้เช็กพยากรณ์อากาศในแต่ละวันให้ดี ระวังฝนตกระหว่างถ่าย แล้วจะทำให้กล้องหรืออุปกรณ์ถ่ายภาพของเราเปียกกันด้วยนะ แต่ถ้าตอนนี้อากาศกำลังเป็นใจ มีเวลาว่าง ไปสนุกกับการถ่ายภาพก้อนเมฆกันเถอะ!

บทความโดย Chad Versoza จากเว็บไซต์ expertphotography.com
https://expertphotography.com/cloud-photography/

Back to top