ใส่จินตนาการให้วัตถุ

ความเศร้าหมองที่เราเห็นกันเป็นเพียงแค่เปลือกนอก แต่เนื้อแท้ความสดใส ความร่าเริง พร้อมจะปลดปล่อยออกมาตลอดเวลา         จินตนาการ เป็นสิ่งที่บรรเจิดแม้หลายครั้งจะจับต้องไม่ได้ แต่ทุกคนก็มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด และค่อยๆพัฒนาขึ้นตามประสบการณ์การเรียนรู้ การบรรยายความรู้สึก ถ่ายทอดความคิดในจินตนาการ บรรยายลงไปในภาพถ่าย นับเป็นการปลดปล่อยคำพูดที่ไม่มีเสียงแทนถ้อยคำได้อย่างมีรสชาติ         ภาพบางภาพอาจสื่อออกมาเป็นแนวนามธรรม (Abstract), แนวไฟน์อาร์ต (Fine Art) มองรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ถ่ายอะไรมาไม่เห็นเข้าใจ นี่คือความในใจของใครหลายคน ที่อยากถามไถ่ความนึกคิดของศิลปิน ก่อนที่จะลั่นชัตเตอร์ปล่อยแสงลงเซ็นเซอร์ว่าคิดอะไร คิดได้อย่างไร ทำไมไม่ถ่ายภาพมาเต็มๆ ทำไมต้องลดทอนให้เหลือเท่านี้         ประสบการณ์ร่วมเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเข้าใจงานศิลป์ ยิ่งมีข้อมูลหลากหลาย และลงลึก ก็ยิ่งถ่ายทอด และรับรู้ความหมายอันมีนัยแฝงอยู่ในภาพได้ถ่องแท้ ทั้งแบบเชิงเดี่ยว และแบบเชิงซ้อน อาทิ ศาสนาพุทธนับถือพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นภาพที่ถ่ายทอดออกมาต้องมีความเหมาะสมไม่สื่อไปในเชิงลบลู่ หรือไม่เหมาะสม         พื้นฐานการถ่ายภาพถูกนำมาใช้มากมายโดยเฉพาะการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุที่มีอยู่ให้เกิดความสอดคล้องกันในแง่ของการสื่อความหมายอันมีนัย การควบคุมกล้องก็เช่นกัน Depth of Field เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้สร้างความน่าสนใจให้กับภาพอยู่บ่อยครั้งโดยผู้ชมภาพไม่รู้ตัว         การถ่ายภาพลักษณะนี้ต้องมีทักษะการถ่ายภาพที่ดีมาก่อน แล้วจึงค่อยใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกันให้เกิดศิลปะเป็นใช้ได้ เผลอๆมีแนวความคิดจากอีกซีกมาผสมจนเกิดแนวการถ่ายภาพอันเป็นอัตลักษณ์ของตนจนเป็นว่าที่ศิลปินคนใหม่กันทีเดียว นำจุดสนใจไปไว้ในตำแหน่งจุดตัดเก้าช่อง โดยหมุนหามุมให้เส้นแฉกที่แสงส่องลอดเข้ามา กับโครงสร้างด้านนอกอยู่สลับกัน จากนั้นเลือกวัดแสงบริเวณในวงกลมให้แสงพอดีส่งผลให้พื้นที่ด้านหน้าโดยรอบมืดลงไม่เหลือรายละเอียด ภาพนี้ไม่บอกคงรู้ว่าถ่ายภาพมาจากในปั๊มน้ำมันแถวเชียงคาน เพราะภาพได้เล่าเรื่องด้วยตัวมันเอง แต่นำชื่อมาคนมาใช้บนป้ายสีแดง ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นเงาสะท้อนรถที่กำลังเติมน้ำมันอยู่บนกระจก เรียกว่าสมบูรณ์ในส่วนของการเล่าเรื่อง ลองเลี้ยวเข้าวัดบ้าง ภาพนี้นำเทคนิคช่วงความชัด หรือ Depth of Field มาสื่อสารกับผู้ชมโดยเลือกใช้หน้ากล้องที่ F5.6 เพื่อให้ยังพอมองเห็นรายละเอียดด้านหลังได้ว่าเป็นที่ไหน และมีความสัมพันธ์อย่างไร กับวัตถุที่เรากำลังบันทึกอยู่ในส่วนของ Foreground จากนั้นพยายามถ่วงสมดุลของภาพด้วยสี โดยในภาพนี้อยู่ในตำแหน่งมุมล่างซ้าย กับมุมบนขวา เป็นการนำวัตถุมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นวัฏจักรของชีวิตด้วยเทคนิค Depth of Field เช่นกันโดยเลือกสีชมพูมาถ่ายทอดความสดใสของเด็ก การมองเห็นโลกเป็นสีชมพู ซึ่งในความเป็นจริงมีอะไรแฝงอยู่มากกว่าที่เห็นเมื่อเวลาผ่านไป
Back to top