เทคนิคการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย

 
Olympus PEN E-P5,  M.Zuiko Digital ED 40-150 mm f/4.0-5.6 R , F5.6, 1/50s, ISO400, Tungsten WB
 
หลายคนเมื่อเห็นภาพที่สวยอยู่ตรงหน้าแต่เก็บกล้องเข้ากระเป๋า
เพราะเพียงว่าสภาพแสงน้อยถ่ายภาพไปก็คงไม่สวย
หากมีแนวคิดนี้อยู่ลองดูเทคนิคที่จะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไป
เพื่อเก็บภาพบรรยากาศสวยงามในอีกห้วงเวลา
 
     Low Light หรือการถ่ายภาพในสถานที่ที่ต้องตกอยู่ในสภาวะแสงน้อยนั้นเป็นความลำบากใจของช่างภาพหลายคนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือผู้ที่มีทักษะบ้างแล้วก็ตามในการทำให้ภาพเกิดความน่าสนใจ ซึ่งการถ่ายทอดอารมณ์ของภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าต้องการสะท้อนเรื่องราวอะไรไปถึงผู้ชมภาพ แสงที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็สามารถกลายเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ขอแค่รู้วิธีการเก็บบันทึกให้ได้อย่างที่ต้องการ อาทิ การถ่ายภาพดวงดาว การถ่ายภาพการจราจรบนถนน ทางผู้ผลิตกล้องก็พยายามสร้างกล้องที่ตอบสนองการใช้งานให้ได้ภาพสวยงามด้วยโหมดการถ่ายภาพพื้นฐาน (P,A,S,M) และโหมดการถ่ายภาพอัตโนมัติ (Intelligent Auto) หรือใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมเพื่อสนับสนุนให้เงื่อนไขการบันทึกภาพมีขอบเขตกว้างขึ้น(ข้อจำกัดน้อยลง) วันนี้ลองไปเรียนรู้เรื่องราวง่ายๆที่จะทำให้คุณเกิดรอยยิ้มได้เมื่อเปิดชมภาพ
 
 
SCENE MODE...ผู้ช่วยยามคับขัน
 
 
     SCN หรือโหมดถ่ายภาพสำเร็จรูป มีอยู่ในกล้องทุกประเภทเพื่อช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถเลือกใช้งานตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันทีเพราะกล้องถูกตั้งค่าประเมินเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว อาทิ Night Scene, Night Portrait, Firework ซึ่งล้วนแต่ให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์เป็นลำดับแรก มีบางรุ่นสามารถถือด้วยมือเปล่าบันทึกภาพได้โดยไม่เกิดความสั่นไหว (Handheld) โดยมีข้อแม้ว่าใช้ร่วมกับแฟลชไม่ได้ หากต้องการเพิ่มแสงสว่างจากแฟลชในตัวก็ต้องเปลี่ยนโหมดก่อน และหากต้องการเปิดรับแสงนานๆก็จะต้องเลือกโหมดถ่ายพลุ หรือแสงไฟกลางคืน ร่วมกับการใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้เกิดความคมชัดสูง
 
 
แฟลช…เติมแสง หยุดความเคลื่อนไหว
 
 
     SPEEDLIGHT หรือแฟลชภายนอก เป็นผู้ช่วยสำคัญได้อย่างดีในสถานการณ์สภาพแสงน้อยเพื่อเปิดรายละเอียด หรือเพิ่มมิติให้กับภาพแต่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช้เนื่องจากกลัวผลลัพธ์ของแสงในการกระทบผิวตัวแบบทำให้เกิดความแข็งกระด้าง แต่ถ้าไม่มีทางเลือกเราก็ควรเรียนรู้ให้เข้าใจมันดีกว่าว่ามีวิธีการแก้ไขได้อย่างไรเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามนำไปอวดใครต่อใครได้
 
     แฟลชภายนอกมีด้วยกันหลายขนาด หลายกำลังไฟ ก่อนอื่นคงต้องมองที่ลักษณะการนำไปใช้งานก่อนว่าต้องการอะไร เช่น ความแรง ฟังก์ชั่นการทำงาน ซึ่งทุกวันนี้แฟลชถูกพัฒนาให้มีแสงไฟส่องต่อเนื่องในรูปแบบของหลอด LED เพื่อใช้กับการถ่ายภาพวิดีโอ หรือสำหรับโฟกัสภาพ หรือเป็นไฟนำช่วยบอกทิศทางแสงก่อนแฟลชจะสว่างออกไปพร้อมการกดชัตเตอร์ เมื่อใช้แล้วตัวแบบได้รับแสงไปตามที่คำนวณไว้เราก็จะได้ภาพที่ดีมีคุณภาพสูง ส่วนจะได้แสงนุ่ม หรือแสงแข็งก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เสริมที่นำมาสวมด้านหน้าด้วย อาทิ Diffuser, Softbox, Snoot  นอกจากนั้นเรายังสามารถเปลี่ยนสีของแสงได้ตามใจชอบด้วยการใช้เจลสีบังไว้หน้าหัวไฟ
 
 
ขาตั้งกล้อง…เพิ่มพลังความคมชัด
 
 
 
     SHARPNESS หรือความคมชัดเป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพทุกคนให้ความสำคัญแต่มักถูกละเลยขณะบันทึกภาพ ช่างภาพมืออาชีพในสายงานต่างๆจะมีขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการผลิตผลงานเพราะทุกการกดชัตเตอร์มีโอกาสเกิดความสั่นไหวยิ่งในสภาพแสงน้อยที่ต้องเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำยิ่งมีความเสี่ยงต่อความพร่ามัว หรือโฟกัสหลุดเมื่อขยายภาพใหญ่ขึ้นมาตรวจสอบ
 
     ขาตั้งกล้อง จึงเป็นอุปกรณ์คู่กายที่ควรมีไว้โดยไม่อาจเกี่ยงน้ำหนักหากจำเป็นต้องใช้มัน เพราะการปฏิเสธจะส่งผลต่อภาพเมื่อเปิดดูหลังจากกลับจากทริปคุณอาจโทษตัวเองที่ประมาทคราวหน้าต้องแก้ตัวใหม่ แต่โอกาสจะได้ภาพเหมือนเดิมนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการพกพาขาตั้งกล้องไปด้วยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่ากล้องคุณจะมีขนาดเล็กแค่ไหน...
 
     เทคนิคถ่ายภาพดีๆ ยังไม่หมดง่ายๆ กลับมาพบเทคนิคที่จะช่วยสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับภาพของคุณในระยะเวลาสั้นๆแต่ให้ผลลัพธ์ที่สวยงามได้ใหม่ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน กับ BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด
 
Back to top