จัด HEAD คู่ขาตั้ง

 

“เคยเล่าเรื่องขาตั้งกล้องแบบสามขา (Tripod) ไปแล้ว

มาครั้งนี้เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้คู่กัน ขาตั้งบางตัวก็มีสำเร็จรูป

บางตัวต้องซื้อแยกมาประกอบกัน เพื่อให้ตรงความต้องการ ”

 

          หัวขาตั้งกล้องถือเป็นอุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ และวางตำแหน่งกล้องถ่ายภาพให้นิ่ง เพื่อผลของภาพที่คมชัด ไม่สั่นไหวจากการเปิดหน้ากล้องนาน หรือใช้เลนส์ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถถือได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มมีก้านควบคุม และกลุ่มหัวแบบลูกบอล




1. เพลทยึดกล้อง (Plate) แบบ Quick Release

2 . ก้านปรับล็อกมุมก้ม - เงย

3. ก้านปรับล็อกการแพน

4. ก้านปรับล็อกแนวตั้ง

5. ก้านปลดล็อกเพลท

 



1. ก้านหมุนปรับมุมก้ม-เงย

2. ก้านหมุนปรับการแพน

3. ก้านจับสำหรับพลิกแกนแนวตั้ง

4. เพลทยึดกล้อง (Plate) แบบ Quick Release

 

          หัวขาตั้งที่มีก้านควบคุม บางท่านเรียกว่าหัวสามทาง เนื่องจากมีการบังคับให้กล้องไปในสามทิศทาง คือ แพนแนวราบขนานกับพื้น, ปรับในมุมก้ม - เงย และปรับกล้องในแนวตั้ง 90 องศา

          หัวแบบนี้ยังมีแบ่งเป็น ระดับตั้งต้น (Basic) สำหรับกลุ่มขาตั้งขนาดเล็กจะรับน้ำหนักได้ไม่มาก ตั้งแต่ 1 - 2 กิโลกรัม วัสดุจะทำจากพลาสติกเป็นหลัก ช่วยให้น้ำหนักเบา ก้านปรับทิศทางบางครั้งมีก้านเดียวสำหรับปรับก้ม - เงย

          ระดับก้าวหน้า (Advance) เริ่มมีข้อมูลในการเลือกซื้อชัดเจนมักซื้อแบบแยกชิ้นไม่รวมขาตั้ง เพื่อรองรับน้ำหนักกล้อง 2 - 5 กิโลกรัม ซึ่งใช้วัสดุประเภทอลูมินั่มอัลลอยด์ (Aluminum Alloy) ทำให้แข็งแรง ทนทาน ต่อการใช้งานสมบุกสมบัน

          ระดับมืออาชีพ (Professional) เป็นกลุ่มที่ใช้งานละเอียด และสมบุกสมบัน จึงมีผู้ผลิตสร้างการควบคุมด้วยระบบเกียร์ (Geared Head) ช่วยในการปรับมุมต่างๆเป็นไปด้วยความละเอียดนุ่มนวล (Smooth) รองรับน้ำหนักอุปกรณ์ได้ถึง 10 กิโลกรัม

          ในแต่ละระดับมีรูปแบบการใช้งานเหมือนกัน แตกต่างในรายละเอียดบ้าง อาทิ จุดเชื่อมต่อกล้อง กับหัวจะมี 2 แบบ คือ แบบมีเพลท และไม่มีเพลท


จุดเด่น

     - ปรับทิศทาง องศาการรับภาพได้ละเอียด แม่นยำ
     - แข็งแรง รับน้ำหนักได้มาก


จุดด้อย

     - เกะกะ ไม่สะดวกต่อการพกพาเดินทาง
     - น้ำหนักมาก



 

1. เพลทยึดกล้อง (Plate) แบบ Quick Release ด้วยการสไลด์

2. ปุ่มปลดล็อกเพลท

3. แกนล็อกลูกบอล

4. แกนล็อกปรับการแพน

5. แกนปรับความหนืดของลูกบอล

6. ลูกบอล

7. เพลทยึดกล้อง (Plate) แบบ Quick Release ทั่วไป

8. สเกลบอกระยะตำแหน่งการเคลื่อนที่

9. ระดับน้ำ

 

หัวบอล หลากหลายแบบ ในแต่ละผู้ผลิต

 

          หัวขาตั้งแบบลูกบอลในปัจจุบันได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากมีความคล่องตัวในการใช้งาน มีฟังก์ชั่นมากมายอยู่ในตัว โดยมีจำนวนรุ่นในแต่ละผู้ผลิตให้เลือกใช้มากมาย

          หัวแบบนี้ยังมีแบ่งเป็น ระดับตั้งต้น (Basic) สำหรับกลุ่มขาตั้งขนาดเล็กจะรับน้ำหนักได้ไม่มาก ตั้งแต่ 0.5-1 กิโลกรัม มีก้านบิดปรับล็อกตำแหน่งเดียวควบคุมทุกสิ่งอย่าง

          ระดับก้าวหน้า (Advance) เริ่มใช้ในกลุ่มกล้องประเภท SLR LIKE จนถึงกล้อง DSLR รองรับน้ำหนักกล้องพร้อมเลนส์ 2-10 กิโลกรัม ผลิตจากวัสดุประเภทอลูมินั่มอัลลอยด์ (Aluminum Alloy) เคลือบสีดำด้านแบบ อโนไดซ์ (Anodize) ทำให้ไม่เกิดสนิม มีแกนปรับแยกเป็น 3 แกน คือ ปรับล็อกการแพน , ปรับล็อกลูกบอล และปรับความหนืดของลูกบอล

          ระดับมืออาชีพ (Professional) เป็นกลุ่มที่ใช้งานหนัก สมบุกสมบัน ใช้ร่วมกับกล้อง หรือเลนส์ขนาดใหญ่ ตามฐานเพลท และจุดปรับต่างๆจะมีองศาระบุ สามารถรองรับน้ำหนักอุปกรณ์ได้ถึง 30 กิโลกรัม

          หัวบอลรุ่นใหม่พัฒนาให้มีขนาดเล็ก แต่รับน้ำหนักได้มาก ด้วยเทคโนโลยีการสร้างระบบกลไกที่ทันสมัย และแข็งแรง จนผู้ใช้งานประหลาดใจในคุณภาพ


จุดเด่น

     - ปรับทิศทางได้หลากหลาย คล่องตัว
     - มีฐานเพลทให้เลือกใช้หลายแบบ
     - มีระบบการปรับความหนืดลูกบอลให้สัมพันธ์กับน้ำหนักอุปกรณ์
     - สะดวกต่อการพกพาเดินทาง


จุดด้อย

     - ไม่เหมาะสำหรับกล้องขนาดใหญ่
     - ไม่สะดวกเมื่อต้องการปรับมุมละเอียด


          เมื่อทราบรายละเอียดของหัวขาตั้งกล้องทั้งสองกลุ่มแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณว่าจะเลือกใช้อย่างไรให้ตรงกับงานที่ต้องการนำไปใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิผลอย่างสูงสุดตรงกับรุ่นที่เลือกมาจับคู่กับขาตั้งกล้อง ประการสำคัญต้องหมั่นนำไปใช้ผลิตผลงานอย่างสม่ำเสมอ

Back to top