เคล็ดลับถ่ายภาพ Landscape ด้วยเลนส์ Telephoto


เมื่อนึกถึงการถ่ายภาพ Landscape คนส่วนมากจะนึกถึงเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ Wide มากกว่า ซึ่งช่วยเก็บภาพธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล ออกมาได้ในการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว แต่เลนส์มุมกว้างเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดจริง ๆ เหรอ แล้วถ้าเป็นเลนส์ Telephoto ล่ะ ใช้ได้ไหม
เลนส์ Telephoto มักใช้ในการถ่ายระยะไกล หรือสถานที่ที่เข้าไปใกล้ ๆ ไม่ได้ เลนส์ตัวนี้ช่วยดึงองค์ประกอบและรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพที่อยู่ไกล ๆ ให้เข้ามาใกล้ มองเห็นได้ชัดขึ้น หากต้องการโฟกัสวัตถุที่เด่นสักอย่างหนึ่ง เช่น ดวงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า ดวงจันทร์ หรือนกที่กำลังบิน เลนส์ตัวนี้คือคำตอบ

 

 

 

ภาพถ่ายดูดีขึ้น

เมื่อต้องการถ่ายภาพ Landscape สวยๆ ความท้าทายไม่ควรหยุดอยู่แค่ถ่ายทุกองค์ประกอบไว้ในภาพ อย่างที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างกันตามปกติ อยากให้ลองเปลี่ยนไปใช้เลนส์ Telephoto หาจุดโฟกัสเด่น ๆ ในภาพ ทำให้ภาพดูมีพลัง หรือเลือกโฟกัสส่วนใดส่วนหนึ่งในฉากที่มีรายละเอียดน่าสนใจ การทิ้งรายละเอียดอื่นที่ไม่จำเป็นที่ทำให้ภาพดูรก จะทำให้ภาพถ่ายที่ได้ดูเรียบง่าย องค์ประกอบไม่เยอะและที่สำคัญ Perspective ไม่บิดเบี้ยวเหมือนใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายอีกด้วย

 

 

 

บีบองค์ประกอบทุกอย่างไว้ด้วยกัน

เลนส์ Telephoto ช่วยได้หากอยากถ่ายวัตถุหลายๆ อย่างที่อยู่ไกลกับใกล้ ให้เข้ามาอยู่ใกล้กัน หรือเมื่อต้องการบีบองค์ประกอบที่เห็นไกลๆ เข้ามาในภาพ นอกจากนี้ยังช่วยให้วัตถุที่อยู่ห่างไกลจากเรามาก อย่างเช่น ภูเขาหรือดวงจันทร์ เข้ามาใกล้ตัวเราอีกด้วย

 

 

 

สร้างภาพ Panorama

แน่นอนว่า เลนส์ Telephoto ยังถ่ายภาพพาโนรามาได้ ใช้ถ่ายซูมสถานที่แห่งหนึ่ง ออกมาหลาย ๆ ใบ ในมุมที่ต่างกัน แล้วค่อยเอาไปแต่งรวมกันเมื่อถ่ายเสร็จ แค่นี้ก็จะได้ภาพถ่ายพาโนรามาสวย ๆ แล้ว

 

 

 

เก็บรายละเอียดได้ครบ

คุณสมบัติเด่น ๆ อีกอย่างหนึ่งของเลนส์ Telephoto คือสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้ครบจนได้ภาพอันน่าทึ่งให้ปรากฎในภาพถ่ายได้อย่างครบถ้วน เช่น กลุ่มเมฆหมอกและฝุ่น สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายละเอียดที่สวยงามเข้าไปในภาพ

 

 

 

ดูสภาพอากาศ

เลนส์ Telephoto มีประโยชน์มากในช่วงที่สภาพอากาศมีหมอกหรือพายุฝน เพราะจับภาพท้องฟ้าที่มืดมนหรือหุบเขาสวยที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกออกมาได้อย่างชัดเจน ภาพถ่ายที่ได้มีบรรยากาศทึมๆ ช่วยสื่ออารมณ์ได้ดีไปอีกแบบ หรือจะลองซูมรายละเอียดเข้ามาในกรอบภาพ ให้ภาพมีเอกลักษณ์แทนการยัดทุกอย่างไว้ในภาพแนว Landscape แบบเดิม ๆ

 

 

 

การตั้งค่ารูรับแสง

เมื่อถ่าย Landscape โดยใช้เลนส์ Telephoto ต้องระวังในเรื่องค่ารูรับแสง เมื่อต้องการจับภาพวัตถุหรือจุดสำคัญที่อยู่ไกล ๆ ก็ควรปรับค่ารูรับแสงไว้ราว ๆ f8-f11 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด

 

 

 

ต้องแน่ใจว่ากล้องไม่สั่น

เมื่อใช้เลนส์ Telephoto ซึ่งไวต่อการเคลื่อนไหวของตัวกล้อง หากมีการเคลื่อนไหวเพียงนิดเดียว ภาพก็เบลอได้ จึงจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย หากมีขาตั้งกล้องแล้ว สามารถปิดระบบ image stabilization หรืออีกวิธีใช้ mirror lock-up แล้วกดรีโมทชัตเตอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้องสั่นก็ได้

 

 

 

ND ฟิลเตอร์

ในบางวัน เมื่อใช้เลนส์ Telephoto พื้นที่บางแห่งในภาพเดียวกันอาจจะต้องการค่ารับแสงที่ต่างกัน อย่างการที่ภาพถ่ายมีหลายองค์ประกอบ ทั้งท้องฟ้าและพื้นดิน จะวัดแสงได้ยาก ต้องใช้ ND ฟิลเตอร์ ช่วยให้แสงสมดุลในภาพ หรือใช้วิธีถ่ายคร่อมแสง เป็นการถ่ายภาพซึ่งแต่ละที่ในภาพมีการวัดแสงต่างกัน

 

 

 

     การใช้เลนส์ Telephoto ถ่ายภาพแนว Landscape เป็นการเปิดโลกการถ่ายภาพแนว Landscape แบบใหม่ ๆ และถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอีกขั้นของนักเล่นกล้องเลยทีเดียว… 

 

ที่มา contrastly.com

 

 

Back to top