ช่างภาพ Landscape ที่มีฟิลเตอร์หลากหลายแบบติดตัวไปด้วย จะทำให้มีโอกาสได้ภาพถ่ายที่สวยชวนตะลึง ส่วนมากมืออาชีพมักมีฟิลเตอร์ติดกระเป๋าอยู่ 3 แผ่น คือฟิลเตอร์ CPL, ฟิลเตอร์ ND และฟิลเตอร์ GND หรือ ND ครึ่งซีก ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าฟิลเตอร์แบบไหนมีประโยชน์ยังไงจากตอนที่แล้ว (เคล็ดลับการใช้ฟิลเตอร์ในการถ่ายภาพ Landscape EP 1 รู้จักกับฟิลเตอร์) ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ให้ถูกต้องกันด้วย
photo by mararie
ฟิลเตอร์ CPL
ฟิลเตอร์ CPL คือตัวเลือกยอดฮิตสำหรับช่างภาพ Landscape เป็นฟิลเตอร์ตัดแสงโพลาไรซ์ ช่วยตัดแสงสะท้อนที่ไม่ต้องการได้ และช่วยให้จับภาพท้องฟ้าเป็นสีฟ้า
- ตรวจสอบตำแหน่งดวงอาทิตย์ก่อนถ่าย
การใช้ฟิลเตอร์ CPL ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องหาตำแหน่งโพลาไรซ์ก่อน โดยให้ทำมือเป็นรูปปืน ใช้นิ้วชี้เป็นลำกล้อง นิ้วโป้งเป็นไกปืน ให้เล็งนิ้วชี้ไปที่ดวงอาทิตย์ ตำแหน่งนิ้วโป้งคือทิศทางบอกมุมโพลาไรซ์ ซึ่งเวลาจะถ่ายต้องยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์
- การชดเชยแสง
เมื่อใส่ฟิลเตอร์ CPL เข้าไป แสงในภาพจะลดลงไป 2-3 stop เลยทีเดียว ทำให้ถ่ายได้ตามปกติโดยไม่ต้องชดเชยแสง แต่ถ้าต้องการจับภาพสายน้ำให้ดูเบลอและนุ่มนวล ต้องชดเชยแสงเพิ่มขึ้น
- เมื่อท้องฟ้ามีสีแตกต่างกัน
บางครั้งท้องฟ้าแต่ละวันมีหลายสี ไม่ใช่มีเพียงสีฟ้าอย่างเดียว เช่น มีสีส้มหรือสีเหลืองปนอยู่ด้วย ถึงจะถ่ายภาพโดยใช้ร่วมกับฟิลเตอร์ CPL แต่ก็ต้องนำไปแต่งภาพเพิ่มเติมทีหลัง
ND filter
photo by Waqas Mustafeez
โดยปกติจะใช้ฟิลเตอร์ ND เพื่อให้สามารถใช้ Long exposure ในเวลากลางวัน ช่วยให้จับภาพสายน้ำและท้องฟ้าที่มีการเคลื่อนที่ให้ออกมาดูนุ่มนวล ในการถ่ายภาพให้ใช้ค่า f มาก ๆ เวลาที่มีแดดจ้า
- จัดองค์ประกอบก่อนใช้ฟิลเตอร์
สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังไว้เมื่อใช้ฟิลเตอร์ ND เมื่อใส่ฟิลเตอร์เข้าไปหน้าเลนส์ จะไม่สามารถใช้ Live View ได้ ดังนั้นก่อนลงมือถ่ายภาพ Long exposure ต้องจัดองค์ประกอบภาพให้ดีก่อน และใช้ขาตั้งกล้องในการถ่าย เพราะถ้าใช้สปีดชัตเตอร์ช้าๆ ซึ่งไวต่อการสั่นของกล้อง แม้กล้องสั่นเพียงนิดเดียว ภาพก็เบลอ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนไปใช้ manual focus เพื่อไม่ให้กล้องโฟกัสแบบอัตโนมัติ
- เปลี่ยนค่ารับแสง
การเปลี่ยนไปใช้โหมด manual จะทำให้สะดวกเวลาตั้งค่ากล้อง สามารถตั้งค่ารูรับแสง ตรวจเช็คสปีดชัตเตอร์ด้วยตนเองได้ แต่ควรระวังสำหรับคนที่ใส่ฟิลเตอร์หลายๆ แผ่น ต้องตั้งค่า
สปีดชัตเตอร์ให้ถูกต้องด้วย
- แต่งภาพทีหลัง
ฟิลเตอร์บางรุ่นก็ทำให้ภาพมีแสงเงา ดังนั้นก่อนถ่ายภาพควรตั้งค่าเป็นไฟล์ RAW แล้วไปแต่งภาพต่อจะดีกว่า เพื่อให้ได้ภาพที่มีสีสันสวยงาม
ฟิลเตอร์ GND หรือ ND ครึ่งซีก
photo by John Cunniff
ส่วนใหญ่ช่างภาพจะใช้ฟิลเตอร์ GND หรือ ND ครึ่งซีกในภาพที่มีสภาพแสงแตกต่างกัน เช่น ถ่ายภาพ Landscape ท้องฟ้าสว่างจ้า ส่วนฉากหน้ามืด
- เลือกฟิลเตอร์
ก่อนถ่ายภาพควรตัดสินใจว่าจะใช้ความเข้มของฟิลเตอร์มากแค่ไหน ฟิลเตอร์ที่มีความเข้มน้อยกว่า จะสังเกตเส้นขอบฟ้าได้ไม่ชัดเจน เพราะครึ่งซีกของฟิลเตอร์ที่มีสีแทบจะไม่แตกต่างกันกับอีกครึ่งซีกที่เป็นสีใส ส่วนฟิลเตอร์ที่มีสีเข้มกว่าจะสังเกตเส้นขอบฟ้าได้ชัดเจนกว่า และอีกสิ่งหนึ่งคือขึ้นอยู่กับปริมาณแสงในภาพ ถ้าในภาพมีแสงน้อย ให้ใช้ฟิลเตอร์สีไม่เข้มมาก
- เปลี่ยนการชดเชยแสง
ในการตัดสินใจว่าจะใช้ฟิลเตอร์ GND กี่ stop ในภาพที่มีสภาพแสงไม่เท่ากัน ให้วัดแสงตรงพื้นที่ที่สว่างที่สุดและมืดที่สุดก่อน เช่น วัดแสงที่ท้องฟ้า 1/250 ต่อวินาที และที่ฉากหน้า 1/60 วินาที ดังนั้นค่ารับแสงจะต่างกัน 2 stop (250>125>60) เลยต้องใช้ฟิลเตอร์ GND 2 stop เพื่อให้ภาพบาลานซ์กัน
- ตำแหน่งของฟิลเตอร์
ก่อนถ่ายภาพต้องแน่ใจว่าวางฟิลเตอร์ถูกตำแหน่ง ให้ใช้ปุ่มเช็ดชัดลึก หรือ depth of field preview แล้วมองผ่านช่องมองภาพ จะเห็นว่าช่องมองภาพมืดลงเพราะกล้องจะหุบรูรับแสงลงมาตามค่า F Stop ที่ตั้งไว้ ทำให้สามารถเช็คระยะชัดของภาพได้ว่าครอบคลุมบริเวณที่เราต้องการได้ครบหรือไม่ นอกจากนี้ช่วยให้สังเกตตำแหน่งการวางฟิลเตอร์ว่าอยู่ตรงเส้นขอบฟ้าได้ง่ายขึ้น
ที่มา contrastly.com