REVIEW : Tamron SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD

 
คว้าเลนส์มาโคร...เก็บไอ้แมงมุม
 
Falling in Love…    Tamron F004 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD, F4, 1/125s, ISO 400, Daylight WB, with Tripod
 
TAMRONผู้ผลิตเลนส์อิสระที่ครองใจคนทั่วโลกมากว่า60ปี
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนามาอย่างยาวนานเพื่อคุณภาพ
สำหรับกลุ่มนักถ่ายภาพตั้งแต่มือใหม่จนกระทั่งไปถึงมืออาชีพ
รองรับกล้องในกลุ่มDSLR MIRRORLESSทั้งแบบฟูลเฟรมและตัวคูณ
 
     TAMRON ออกแบบเลนส์ในซีรีย์ใหม่ที่มีระบบป้องกันความสั่นไหวมาหลายตัวเพื่อรองรับความต้องการของนักถ่ายภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพในทุกสภาพแสงได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยขาตั้งกล้องเสมอไป แต่ยังต้องการภาพที่คมชัดแม้จะปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่ากฎของทางยาวโฟกัสที่สามารถใช้มือถือบันทึกภาพได้ในชื่อว่า VC หรือ Vibration Compensation โดยเน้นไปที่เลนส์สำหรับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม แต่ก็สามารถนำไปใช้กับกล้องเซ็นเซอร์ตัวคูณขนาด APS-C ได้เช่นกัน ครั้งนี้เราไปดูเลนส์ที่ให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพระยะใกล้ หรือเรียกกันทั่วไปว่าเลนส์มาโครตัวเด็ดของแทมรอนที่กำลังร้อนแรงติดกระแสนิยม
 
     SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD เลนส์มาโครประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ที่เพิ่งคว้ารางวัล "European Lens 2013-2014" จากการออกแบบครั้งใหม่ที่มาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว (VC)  พร้อมทั้งระบบมอเตอร์ Ultrasonic Drive (USD) ที่โฟกัสได้อย่างรวดเร็ว เงียบ และมีความแม่นยำสูง โครงสร้างประกอบด้วยชิ้นเลนส์ XLD(Extra Low-Dispersion) ถึงสองชิ้นเลนส์เพื่อเพิ่มคุณภาพของภาพให้มีความคมชัด และลดการคลาดเคลื่อนของสี อีกทั้งยังมีชิ้นเลนส์ LD ที่ช่วยลดการเลื่อมของแสงได้อย่างยอดเยี่ยม
 
 
     SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD เลนส์มาโครที่มีไดอะแฟรมแบบขอบโค้งเพื่อให้เลนส์สามารถถ่ายทอดภาพที่มีฉากหลังเป็นโบเก้สวยงาม พร้อมสุดยอดนวัตกรรมล่าสุดด้วยการเคลือบผิวเลนส์แบบใหม่ที่เรียกว่า eBAND (Extended Bandwidth & Angular-Dependency) ช่วยป้องการแสงสะท้อน , แสงแฟลร์ , อาการแสงหลอน (Ghost Imaging) และยังช่วยให้ได้ภาพที่มีความกระจ่างสดใส มีสีสันสมจริงมากยิ่งขึ้น ให้ภาพที่คมชัด สวยงาม มีคุณภาพและรายละเอียดสูง ตัวเลนส์ยังใช้ระบบโฟกัสแบบภายใน (IF) และมีระบบซีลตัวเลนส์เพื่อป้องกันความชื้นอีกด้วย การที่เลนส์รุ่นนี้ออกแบบเป็นรหัส Di หมายความว่ารองรับกับการใช้งานกล้องฟูลเฟรมหากนำไปใช้กับเซ็นเซอร์ APS-C ก็ต้องคูณค่ากำลังขยายให้วัตถุใหญ่ขึ้น สำหรับกล้องตัวคูณ 1.5 เท่าก็จะได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 135 มม. และถ้าตัวคูณ 1.6 เท่าก็จะได้ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าระยะ 144 มม. อาจจะเรียกว่าเป็นข้อดีก็ได้ในการที่ระยะห่างจากวัตถุเท่าเดิมที่0.3เมตรแต่ได้วัตถุขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งนั่นก็หมายถึงจำนวนพิกเซลในภาพมากกว่าเดิมนั่นเอง
 
 
     SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD จะมีกระบอกเลนส์ใหญ่แข็งแรงดูบึกบึน วงแหวนซูมด้านหน้าจะมียางเซาะร่องสำหรับหมุนปรับโฟกัสถนัดมือ ด้านข้างจะมีสวิทช์ปรับระยะโฟกัสเป็นช่วงๆตามลักษณะการใช้งานแต่ละครั้งมีให้เลือกใช้ 3 ลักษณะ คือ Full ปรับระยะตั้งแต่ 0.3 เมตรถึงระยะอินฟินิตี้, 0.5 เมตรถึงระยะอินฟินิตี้ และระยะ 0.3 ถึง 0.5 เมตร ข้อดีของการเลือกระยะที่จะโฟกัสได้ทำให้การหาตำแหน่งโฟกัสทำได้รวดเร็ว แม่นยำ สามารถปรับละเอียดด้วยโฟกัสแบบแมนนวลอีกครั้งก็ยิ่งทำงานได้ง่ายตามการเคลื่อนไหวของวัตถุหากมีลมพัดเบาๆ หรือแมงมุมขยับช้าๆ ซึ่งตัวสวิทช์ก็ปรับได้ง่ายไม่แข็งกระด้าง ถัดลงไปเป็นสวิทช์ปรับเปลี่ยนระบบโฟกัสระหว่างแบบออโต้โฟกัส (AF) กับแบบปรับตั้งเอง (MF)
 
 
 
     SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD ทำงานได้ราบเรียบไม่วืดวาด เสียงเงียบ ไม่ว่าจะถ่ายภาพนิ่ง หรือถ่ายภาพวิดีโออันเป็นผลจากมอเตอร์รุ่นใหม่ (USD) ท่านที่เคยชินกับการหาโฟกัสด้วยมือหมุนน่าจะมีโอกาสทดลองใช้งานดูบ้างเพราะปัจจุบันบอดี้กล้องหลายรุ่นใช้การโฟกัสแบบสัมผัส (Touch Screen) ยิ่งทำให้ง่ายสะดวกต่อการถ่ายภาพ ในกรณีที่ตัวแบบไม่เคลื่อนที่เมื่อหาโฟกัสได้แล้วเราก็ควรล็อกโฟกัสค้างไว้เลย หรืออีกวิธีที่ง่ายเมื่อหาโฟกัสได้ก็ผลักสวิทช์เลนส์ไปที่ตำแหน่งMFวงแหวนโฟกัสก็จะไม่ขยับเปลี่ยนจุดโฟกัสเอง ซึ่งการถ่ายมาโครวัตถุเล็กมากๆอุปกรณ์ที่ไม่ควรละเลยก็คือ ขาตั้งกล้อง แม้เลนส์ตัวนี้จะมีระบบกันสั่นดีแค่ไหนแต่เวลาใช้งานจริงก็ต้องระวังเพราะระนาบโฟกัสของตาแมงมุมนั้นมีน้อยหากขยับเล็กน้อยก็มีโอกาสหลุดโฟกัสได้
 
     ในการทดสอบครั้งนี้ไม่ได้ใช้อุปกรณ์เสริมอะไรนอกจากขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์ที่ควรมีไว้ใช้คู่กันเพราะการเลือกใช้โหมด Self Timer จะไม่สามารถลั่นชัตเตอร์ในจังหวะที่เราต้องการได้ วันนั้นเดินไปเจอแมงมุมเกาะอยู่บนดอกกล้วยไม้สีตัดกันพอดีจึงรีบหยิบอุปกรณ์ทั้งหมดมาประกอบและจัดองค์ประกอบภาพเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามทิศทางแสงช่วงอรุณรุ่ง ดังนั้นแสงอีกฝั่งจะสลัวๆ หน่อยจึงใช้กระดาษขาวช่วยสะท้อนแสงกลับเข้าไปที่ตัวแมงมุม สำหรับฉากหลังอยากให้มีสีสันแสบๆ สลับกับฉากดำบ้างจึงไปหยิบถาดพลาสติกที่วางในสวนไปบังด้านที่แสงแดดลงจึงทำให้ดูโปร่งแสงสว่างกว่าตำแหน่งของตัววัตถุ จากนั้นก็กดชัตเตอร์ไปเรื่อยตามการเคลื่อนไหวของแมงมุม
 
 
     SP 90mm F/2.8 Di Macro 1:1 VC USD ทำงานในภารกิจนี้ได้ลุล่วงเป็นอย่างดีให้สีสันสดใสในโทนสีธรรมชาติไม่ฉูดฉาดมากซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเราไปปรับเร่งได้ในขั้นตอนการตกแต่งภาพได้ แต่สิ่งที่ให้มาโดยไม่ต้องไปทำเพิ่มคือเรื่องของความคมชัดที่หากคุณโฟกัสเข้าจุดรับรองว่าคมบาดแน่นอนกับคุณภาพของชิ้นเลนส์ทั้ง 14 ชิ้น 11 กลุ่มที่คัดสรรมาอย่างดีทั้งวัตถุดิบและการเคลือบผิวเลนส์ แม้บอดี้จะจะดูอวบอ้วนแต่มีขนาดหน้าเลนส์เพียง58มม.เท่านั้นทำให้ประหยัดค่าฟิลเตอร์ไปได้บ้าง ถ้าประกอบกับบอดี้กล้อง DSLR รุ่นกลางๆ ขึ้นไปจะดูเข้ากันมากไม่ว่าจะใช้กับแบรนด์ใด (Nikon,Canon,Sony) เพราะน้ำหนักและขนาดของกล้องกับเลนส์จะสมดุลกันมาก อย่างไรก็ดีหากมีโอกาสได้ทดลองแวะไปทดสอบเองก็จะได้ทราบว่าเลนส์มาโครรุ่นนี้อยู่ในระดับหัวแถวของเลนส์กลุ่มนี้ทีเดียว...
 
     BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด ขอมอบสิ่งดีๆเสริฟถึงที่ด้วยสาระความรู้ ความสนุก สอดแทรกแง่คิดดีๆอย่างนี้เป็นประจำอยากรู้อยากสนุกกับการนำเสนออุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ผ่านตัวหนังสือ และภาพถ่าย อย่าพลาด! ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ไม่เคยหยุดนิ่งของโลกใบนี้ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ครั้งต่อไป... สวัสดีครับ
 

Tamron F004 SP 90mm F/2.8 Di
Macro 1:1 VC USD Specifications :

 
• ทางยาวโฟกัส  :  90 มิลลิเมตร
• อัตราขยาย  :  1:1 (ที่ระยะ30ซม.)
• ชิ้นเลนส์  :  14 ชิ้น จัดเป็น11กลุ่ม
• ชิ้นเลนส์พิเศษ  :  XLD จำนวน2ชิ้น และLD จำนวน1ชิ้น
• รูรับแสงกว้างสุด  :  f/2.8
• รูรับแสงแคบสุด  :  f/32
• ระยะโฟกัสใกล้สุด  :  0.3เมตร
• ไดอะเฟรม  :  9 ใบ
• ระบบโฟกัส  :  อัตโนมัติ และปรับตั้งเอง
• ขนาดฟิลเตอร์  :  58 มม.
• ขนาด  :  114.5x122.9 มม.
• น้ำหนัก  :  550 กรัม
 
Back to top