REVIEW :Panasonic Lumix GX7 อิสระแห่งการค้นหามุมมองใหม่

 
 
ปีที่ผ่านมากระแสกล้องคอมแพคถอดเปลี่ยนเลนส์ได้มาแรง
หนึ่งในกระแสความนิยมที่ดังข้ามปีต้องมีกล้องรุ่นนี้ติดทำเนียบ
กับการปฏิวัติวงการด้วยความโดดเด่นของช่องมองภาพปรับระดับในตัว
จึงจัดเป็นกล้องที่เหมาะสมสะดวกต่อการพกพาไปลุยถ่ายภาพในทุกสถานการณ์
 
     กล้องคอมแพคถอดเปลี่ยนเลนส์ได้หรือกล้องไร้กระจก (Mirrorless) จัดได้ว่ากระแสความนิยมมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มที่เคยใช้กล้องคอมแพคที่ต้องการสมรรถนะที่สูงขึ้นและกลุ่มที่ใช้กล้อง DSLR แต่ต้องการลดขนาดบอดี้ให้คล่องตัวมากกว่าเดิมสามารถเดินไปถ่ายภาพตามท้องถนนได้โดยไม่เป็นที่สะดุดตา ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเงื่อนไขเดียวกัน คือคุณภาพต้องไม่ลดลงจากที่เคยใช้งานอยู่แล้ว
 
     Panasonic Lumix GX7 กล้องสายพันธุ์ตระกูล G ที่มีการออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานที่หลากหลายแยกเป็นกลุ่มๆ โดยกล้องหน้าตาย้อนยุค (Retro) แบบนี้ถูกสร้างสรรค์จนเป็นเอกลักษณ์ของพานาโซนิคไปแล้ว กล้อง Lumix GX1 รุ่นพี่ที่สร้างชื่อเสียงไว้ไม่น้อยถึงคราวต้องปลดระวาง หลีกทางให้กับกล้องรุ่นใหม่นี้ด้วยความสามารถที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนหลายสถาบันทดสอบกล้องในต่างประเทศทั่วโลกยกให้เป็นกล้องที่เหมาะมากสำหรับการนำไปใช้ถ่ายภาพแนวสตรีท (Street Photography) ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของนักถ่ายภาพทุกวันนี้ที่เห็นอะไรก็เก็บบันทึกเป็นภาพไว้ก่อน อาทิ ถ่ายภาพอาหารที่รับประทาน ถ่ายภาพผู้คนสัญจรตามท้องถนน แน่นอนมันให้ไฟล์คุณภาพสูงกว่ากล้องในสมาร์ทโฟนที่พยายามพัฒนาขึ้นมาเทียบชั้นกล้องประเภทคอมแพค
 
 
     Lumix GX7 สนับสนุนความเป็นโปรด้วยตัวประมวลผลภาพ BIONZ ที่วิเคราะห์ระบบการทำงานได้รวดเร็วมีส่วนเป็นอย่างมาก กับการลดสัญญานรบกวน (Noise) ทำให้ภาพดูใสสะอาดในทุกสถานการณ์แม้ในที่แสงน้อยจะปรับความไวแสงไปสูงสุดที่ ISO 25600 ซึ่งคงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีสัญญานรบกวน แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้บันทึกภาพเก็บความทรงจำไว้ได้ ทั้งนี้ระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ(Autofocus) พัฒนาให้เป็นแบบ FAST HYBRID AF มีการตอบสนองที่รวดเร็วโดยอาศัยระบบ Phase-detection AF 99 จุด และระบบ Contrast-detection AF 25 จุด คอยจับระยะจุดโฟกัสของวัตถุที่เซ็นเซอร์ และการเคลื่อนที่ของชุดเลนส์ควบคู่กัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายด้วยปลายนิ้วผ่านหน้าจอทัชสกรีน Xtra Fine LCD ขนาด 3 นิ้วความละเอียด 921,600 พิกเซล ที่มีความพิเศษปรับองศาก้ม-เงยได้ถึง 180 องศาจึงเป็นเรื่องง่ายในการพลิกจอขึ้นเพื่อถ่ายภาพตนเอง (Self Portrait มีระบบหน่วงเวลา 3 วินาทีหลังกดชัตเตอร์) และสะดวกต่อการถ่ายภาพในมุมสูง หรือมุมต่ำ ในวันที่แสงแดดแรงมากถือว่าช่วยได้มากในการป้องกันแสงสะท้อนเพื่อจัดองค์ประกอบภาพได้สมบูรณ์ถนัดตาใครที่ไม่สะดวกจะสัมผัสปุ่มควบคุมผ่านจอก็ยังสามารถควบคุมกล้องจากแป้นหมุนและปุ่มกดได้ตามปกติ
 
 
     Lumix GX7 มีช่องมองภาพที่พิเศษกว่ากล้องรุ่นอื่นๆจนถือว่าเป็นกล้องตัวแรกของโลกที่มีช่องมองภาพอิเล็คทรอนิคส์ (EVF) สามารถปรับมุมขึ้นได้ถึง 90องศา รองรับการถ่ายภาพมุมต่ำ โดยมีความละเอียดสูงถึง 2.7 ล้านจุดให้อัตราขยายมากถึง 0.7 เท่า พร้อมระบบ Eye Detection Sensor คอยสลับการแสดงผลระหว่างจอแสดงผลกับช่องมองภาพให้อัตโนมัติ แสดงภาพได้100%เหมือนที่ปรากฏบนเซ็นเซอร์เลย ภายในตัวกล้องจะมีระบบป้องกันความสั่นไหว O.I.S.(Optical Image Stabilizer) ที่คิดค้นออกแบบพัฒนาเองซึ่งก็เป็นแบรนด์แรกๆที่นำระบบนี้มาใช้ช่วยให้คุณสามารถนำเลนส์ทุกตัวในระบบMicro Four Thirds หรือเลนส์มือหมุนที่เก็บสะสมไว้หยิบออกมาใช้ได้อย่างสบายใจกดชัตเตอร์ได้มั่นใจว่าจะได้ภาพที่คมชัดไม่ไหวเบลอ (หากโฟกัสเข้าจุด) แม้จะเจอสถานการณ์สภาพแสงน้อยมากๆเพียงจับกล้องให้กระชับมั่นคงเท่านั้นโอกาสการบันทึกภาพช็อทเด็ดไม่ไกลเกินความจริงแน่นอน
 
 
     Lumix GX7 ว่ากันว่าเหมาะจะเป็น King of Street จากรูปทรง ตำแหน่งการควบคุมของกล้องที่ใช้วงแหวนสองวง (Double-Dial for Comfortable Operation) ขนาดใหญ่ควบคุมค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวกเข้าใจง่ายให้ความรู้สึกคลาสสิคคล้ายกลับไปเล่นกล้องแมนนวลสมัยก่อน เวลานำไปออกภาคสนามมือขวาจะสามารถขยับนิ้วปรับค่าต่างๆ โดยไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพเลยก็ยังได้หลังจากผ่านการใช้งานจนคุ้นมือไปสักระยะ จะรับรู้ถึงความกระชับจากความโค้งมนของสันกริปที่ออกแบบมาให้เข้ากับอุ้งมือนักถ่ายภาพได้ไม่เลว แน่นอนว่าการถือกล้องเดินแกว่งไปตามทางย่อมมีโอกาสเจอกับสิ่งน่าสนใจทั้งที่มาแบบฉับไวและหยุดนิ่ง ดังนั้นความรวดเร็ว และแม่นยำของระบบโฟกัสจึงเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความเป็นมืออาชีพได้อย่างแท้จริง ซึ่งการทำรีวิวครั้งนี้ไปเดินเล่นใน Crystal Design Center (CDC) สถานที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งออกแบบสุดสร้างสรรค์มากมาย ทำให้เพลิดเพลินกับการเดินเก็บภาพจนลืมหิวกันเลยทีเดียว...
 
Lumix G Vario HD 14-140mm F4-5.8  ASPH OIS,
F5.3, 1/125s, ISO1250, Auto WB, Focal Length 65mm
Leica DG Macro-Elmarit 45mm F2.8 ASPH OIS,
F2.8, 1/100s,ISO2000, Auto WB
 
     Lumix GX7 มีเลนส์ให้เลือกใช้มากมายในระบบ Micro Four Thirds ครั้งนี้จึงพกเลนส์ไปหลายช่วงทั้งเลนส์ซูม และเลนส์ฟิกซ์ตั้งแต่ช่วงมุมกว้างแบบฟิชอาย (Fisheye) จนถึงช่วงเทเลโฟโต้ นอกจากนี้ยังมีเลนส์มาโครสำหรับเก็บรายละเอียดวัตถุในระยะใกล้ด้วยความคมชัดสูงจากเลนส์ Leica DG Macro-Elmarit 45mm F2.8 ASPH OIS ที่ทั้งสองแบรนด์นำมาผนวกกันเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักถ่ายภาพทั่วโลกที่วางใจเลือกใช้กล้องพานาโซนิค จุดนี้จึงเป็นสิ่งดึงดูดอย่างหนึ่งว่า เลนส์เยอรมันใช้สมองกลญี่ปุ่นก็สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเหนือกว่าที่สายตามนุษย์มองเห็นได้เช่นกันทั้งน้ำหนักแสง เงา สีสัน และความคมชัดที่น่าหลงใหล การที่มีเลนส์เยอะหลายตัวหลายท่านอาจคิดว่าต้องบรรจุในกระเป๋าใหญ่ๆ ซึ่งไม่ใช่กับกล้องระบบนี้ เพราะเลนส์แต่ละตัวมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีโครงสร้างชิ้นเลนส์ที่ได้มาตรฐานใช้ชิ้นแก้วคุณภาพสูงผ่านการเคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยีนาโน (Nano Coating Technology) ทำให้เวลาใช้งานจริงเช็ดทำความสะอาดหน้าเลนส์ง่ายฝุ่นไม่ค่อยเกาะด้านหน้ารวมถึงละอองน้ำด้วย
 
Lumix G Fisheye 8mm F3.5, F5.6, 1/250s, ISO200, Auto WB Lumix G Fisheye 8mm F3.5, F4.5, 1/200s, ISO200, Auto WB
 
     Lumix GX7 เสริมเอฟเฟ็กซ์การถ่ายภาพให้สนุกน่าสนใจขึ้นด้วยCreative Controlมีให้เลือกใช้งานได้ 22 แบบ อาทิ Toy Effect ขอบภาพจะเป็นเงาดำ, Sunshine จำลองแสงฟุ้งโดยสามารถเลื่อนตำแหน่งได้ทั่วทั้งภาพตามต้องการ, Cross Process ภาพจะมีสีสันผิดเพี้ยนจากความจริง, Star Filter สร้างประกายแฉกขึ้นในจุดที่เป็นแสงไฟ แสงสะท้อน เวลาเลือกใช้งานยังสามารถปรับความสว่างในภาพได้อยู่ทั้งปรับจากรูรับแสง และชดเชยแสง เรียกได้ว่าใส่จินตนาการได้อย่างใจ บางท่านอยากเปลี่ยนไปอยู่ในโหมดปกติแล้วเปลี่ยนเฉพาะโทนสีให้เป็นซีเปีย, ขาว-ดำก็สามารถทำได้ สำหรับใครที่อดใจไม่ไหวกับการส่งภาพต่อไปให้เพื่อนกล้องตัวนี้รองรับระบบการส่งข้อมูลไร้สายด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi และ NFC เพียงโหลดแอพพลิเคชั่น Panasonic Image App มาใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android ผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ทคุณก็สามารถแชร์ทุกสิ่งอย่างได้ในเวลารวดเร็ว นอกจากนี้ยังควบคุมกล้องจากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ทั้งการปรับรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ค่าความไวแสง หรือชดเชยแสง ก่อนจะสั่งลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพ
 
Panasonic Lumix GX7, Leica DG Summilux 25mm F1.4 ASPH, F1.4, 1/1000s, ISO200, Auto WB, Creative Control(Sunshine)
 
     Lumix GX7 เป็นกล้องที่ไร้กระจกดังนั้นเวลาถอดเปลี่ยนเลนส์จึงควรระวังฝุ่นละอองปลิวเข้าไปทำให้เกิดเงาดำขึ้นในภาพได้ สิ่งสำคัญคือต้องบิดเลนส์ให้เข้าตำแหน่งล็อกให้เรียบร้อยป้องกันเหตุการณ์เลนส์หลุดคามือ หรือร่วงตกพื้น ในเรื่องประสิทธิภาพเมื่อเลือกค่าความไวแสงสูงนั้นให้รายละเอียดของภาพได้ดีแม้จะใช้ถึง ISO1600 จึงไม่ต้องกังวลหากจะใช้โหมด iA (Intelligent Automatic) ที่คิดทุกอย่างให้เราทั้งหมดซึ่งการถ่ายภาพในที่แสงน้อยกล้องมักจะ Boost ค่าความไวแสงให้สูงไว้ก่อนต่อจากการเปิดค่ารูรับแสงกว้างสุดแล้ว สรุปโดยรวมหนึ่งวันกับกล้องตัวนี้ทำความสนิทคุ้นเคยกันได้ในเวลารวดเร็วค้นหาปุ่มไม่ยากแต่ควรเข้าไปตั้งค่าไว้ตั้งแต่แรกให้เป็นคีย์ลัดที่เหลือก็อยู่ที่คุณจะสร้างสรรค์ผลงานอย่างไรให้เป็นตัวเอง...จากประสิทธิภาพที่มีมาให้แบบไม่จำกัด
 
F3.5, 1/60s, ISO800, Auto WB, Creative Control(Expressive) F3.5, 1/100s, ISO200, Auto WB, Creative Control(Old Days)
 
     BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด ขอมอบสิ่งดีๆด้วยสาระความรู้ ความสนุก สอดแทรกแง่คิดดีๆอย่างนี้เป็นประจำ อยากรู้อยากสนุกกับการนำเสนอกล้องรุ่นใหม่ๆผ่านตัวหนังสือ และภาพถ่าย อย่าพลาด! ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ไม่เคยหยุดนิ่งของโลกใบนี้ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ครั้งต่อไป...สวัสดีครับ
 
Panasonic Lumix GX7  Specifications :
 
  • เซ็นเซอร์ Live CMOS ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล
  • มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว และระบบกำจัดฝุ่นในตัวกล้อง
  • บันทึกภาพไฟล์แบบ RAW และ JPG 
  • ถ่ายวีดีโอแบบ AVCHD/MP4 แบบ Full HD
  • ช่องมองภาพแบบอิเล็คทรอนิกส์ LVF (Live View Finder) ในตัว มีความละเอียด 2.76 ล้านจุด ถือเป็นตัวแรกของโลกที ปรับมุมมองภาพได้
  • ระบบวัดแสง 3 แบบ Multi-metering / Center weighted / Spot Metering
  • ตั้ง ISO 200-25600 สามารถปรับขยายได้ต่ำสุดที่ 125
  • ความเร็วชัตเตอร์ 60-1/8,000s และ ชัตเตอร์ B ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 5 ภาพต่อวินาที
  • หน้าจอ LCD ขนาด 3 นิ้ว ระบบสัมผัสปรับมุมขึ้น-ลงได้
  • มีแฟลชในตัว GN.7
  • รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi และ NFC
ขอขอบคุณ : บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับอุปกรณ์ทดสอบ
 
 
Back to top