ZOOM…ZOOM ออกไปเดินค้นหาแล้วตามล่าภาพ

Canon EOS 760 D, SIGMA 150-600mm f5.0-6.3 DG OS HSM, F6.3, 1/400s, ISO800, Focal Length 531mm, Handheld
 
จริงจัง...แค่ไหนกับการถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ไกลออกไป
หลายสถานการณ์เราไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้
อาจจะด้วยสัญชาตญานของตัวแบบหรือมีสิ่งกีดขวาง
การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้จึงเป็นทางออกที่ดี
 
     TELEPHOTO ZOOM... คำถามของคนอยากถ่ายภาพใหม่ๆมักต้องการทราบว่ากล้องตัวไหนสามารถซูมภาพได้ไกลๆราคาไม่สูง โดยไม่รู้เลยว่าเลนส์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนั้นหากใช้กับกล้อง DSLR จะมีราคาไม่ธรรมดาทีเดียว อีกทั้งขนาดของกระบอกเลนส์ก็ใหญ่โตอลังการงานสร้างไม่ใช่เล็กกะทัดรัดพกพาสะดวกเหมือนเลนส์ซูมเอนกประสงค์ อาทิ 18-250mm, 16-300mm เลนส์ซูมที่มีช่วงทางยาวโฟกัสไกลมากๆ จะอยู่ในกลุ่มเลนส์เทเลโฟโต้ที่มีช่วงเลนส์ตั้งแต่ช่วงร้อยต้นๆจนถึงหลักร้อยกลางๆ อาทิ 100-300mm, 150-500mm มีราคาหลายหมื่นบาท แต่ขนาดและน้ำหนักนั้นเป็นภาระกับคนแบกจริงๆ ใครที่ใจไม่รักรับรองใช้กลางทริปก็ไม่อยากแบกแล้ว จนเมื่อปลายปีที่แล้วมีเลนส์ซูมช่วงใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการกลุ่มนักถ่ายภาพที่อยากได้เลนส์ซูมช่วงปลายไกลๆ หน่อยยิ่งใช้กับบอดี้ APS-C ก็จะช่วยให้เพิ่มช่วงทางยาวโฟกัสเลนส์ไปได้อีกมากด้วยอัตราคูณ1.5 หรือ1.6เท่า จึงได้รับความสนใจจากนักถ่ายภาพเป็นจำนวนมากเพื่อต้องการนำไปเป็นอาวุธคู่กายยามออกล่าภาพกลางป่าเขาลำเนาไพร หรือตามคุ้งน้ำ ทะเลสาบ
 
 
     LENS จากแบรนด์กล้องถ่ายภาพ หรือเลนส์จากแบรนด์อิสระในทุกวันนี้ไม่ได้มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิตแล้วเนื่องจากต่างก็มีความรู้ความชำนาญในศาสตร์การทำเลนส์กันมาอย่างยาวนาน และต่างแบ่งระดับคุณภาพของเลนส์ไว้อย่างชัดเจนทั้งเลนส์เดี่ยวและเลนส์ซูม โดยแยกเป็นแต่ละช่วงทางยาวโฟกัสที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ ช่วงมุมมองปกติ(normal), ช่วงมุมกว้าง(wide angle), ช่วงระยะไกล(Telephoto) และช่วงเอนกประสงค์ (Multi-purpose) ซึ่งในเลนส์เกรดสูงของแต่ละช่วงนั้นมีราคาที่ช่างภาพทั่วไปไม่นิยมซื้อหามาไว้ใช้งานจึงเป็นช่องทางของแบรนด์อิสระที่จะผลิตเลนส์ซูมที่มีช่วงทางยาวโฟกัสเร้าใจมากระตุ้นนักถ่ายภาพให้สนใจในราคาที่สัมผัสได้ง่ายกว่า ดังนั้นเลนส์ที่ช่างภาพกีฬา ช่างภาพนก ชื่นชอบอย่างเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ จึงอยู่ในความสนใจเรื่อยมาที่อยากจะคบหาในราคาเร้าใจ นักถ่ายภาพทั่วไปที่ไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของมีไว้ไปล่าภาพสัตว์ที่อยู่ในระยะไกลๆ ให้ได้ขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งตอนนี้มีอยู่สองผู้ผลิต คือ Tamron และ Sigma ที่มองเห็นความต้องการและศักยภาพของช่างภาพกลุ่มนี้จึงออกแบบเลนส์ช่วงเดียวกันสเปคไล่เลี่ยแทบจะเหมือนกันทีเดียวนั่นก็คือเลนส์ซูม150-600mm f5.0-6.3 ทาง Sigma จะผลิตเลนส์เป็นซีรีย์ A(Art) กับซีรีย์ C(Contemporary) ส่วนทางTamron ผลิตมาเกรดเดียวที่มีมาตรฐานเดียวกับซีรีย์ C ของ Sigma
 
Canon EOS 760 D, SIGMA 150-600mm f5.0-6.3 DG OS HSM, F6.3, 1/640s, ISO200, Focal Length 600mm, Handheld
 
Canon EOS 760 D, TAMRON 150-600mm f5.0-6.3 Di VC USD, F8, 1/500s, ISO1600, Focal Length 600mm, Handheld
 
     LENS จากสองแบรนด์อิสระได้รับมาใช้คู่กันกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C เพื่อพิสูจน์ในเรื่องความเร็วในการโฟกัสเมื่อนำมาใช้กับกล้องที่มีคุณสมบัติน้องเล็กแต่เป็นน้องใหม่ในตระกูลที่พัฒนาในหลายๆด้านดูกันว่าระบบป้องกันภาพสั่นไหวทั้ง Vibration Compensation(VC) และ Optical Stabilizer(OS) จะทำหน้าที่ในสภาพแสงน้อยได้ดีแค่ไหนกับการถ่ายภาพด้วยมือเปล่า (Hand-held) เมื่อทางยาวโฟกัสของเลนส์ถูกขยายเพิ่มไปอีก 1.6 เท่าตามขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่า Image Circle ของเลนส์ทั้งสองรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับกล้องรูปแบบฟูลเฟรม ดังนั้นภาพที่จะแสดงผลออกมาจะถ่ายทอดจากชิ้นแก้วส่วนกลางเป็นหลักโอกาสชัดตั้งแต่กลางภาพจนถึงขอบภาพควรจะทำได้ดี รวมถึงความคลาดสี ความบิดเบือนของภาพที่ไม่ควรจะมีให้เห็นจนรับไม่ได้ที่ความไวแสงต่ำหรือกลาง สำหรับที่ความไวแสงสูงต้องยอมรับว่ากล้องระดับนี้ให้ผลลัพธ์ได้ดีระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถหวังผลเลิศได้นักต่อนักถ่ายภาพระดับอาชีพการทดสอบจึงนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ตรงๆ ได้ทีเดียวแต่ควรมองกลับไปถึงเรื่องความคุ้มค่าเป็นสำคัญ
 
 
 
     LENS ในช่วงทางยาวโฟกัสระยะไกลปัญหาที่เราจะพบมักเป็นเรื่องของน้ำหนักเพราะเมื่อถือถ่ายภาพเป็นเวลานานจะเกิดความเมื่อยล้าจนทำให้ภาพสั่นไหว ดังนั้นการปรับตั้งค่ากล้องเรื่องรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และค่าความไวแสงต้องควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพสูง ในครั้งนี้พยายามออกตามล่า(ภาพ) พวกนกตามธรรมชาติในสภาพแสงตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อพิสูจน์ในเรื่องระบบป้องกันภาพสั่นไหวจึงพยายามใช้มือถือมากกว่าการเลือกใช้ขาตั้งกล้องเนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ยึดเลนส์ไว้นิ่งๆ คุณควรต้องปิดระบบช่วยนี้หากฝืนใช้งานภาพที่ได้จะกลายเป็นไม่คมชัดเนื่องจากระบบจะขยับเคลื่อนภายในจนตัวกล้องสั่นตามไปด้วย สุดท้ายภาพออกมาไม่ดีอาจเสียความรู้สึกกับอุปกรณ์นั้นไปเลยก็ได้ ดังนั้นการออกแบบจับถือของเลนส์ทั้งคู่มีการถ่วงน้ำหนักมาเป็นอย่างดี โดยมีคอลล่าร์(Collar) ขนาดใหญ่สามารถถอดเข้า-ออกได้ (ทางSigmaจะออกแบบมาขนาดเล็กกว่าTamron) กรณีถอดออกไปทาง Sigma จะมียางเหมือน Wristband สีเทามาให้สวมปิดแทนที่เพื่อการจับถือให้กระชับ หนืดมือ ง่ายต่อการวางมือซ้ายจังหวะที่ยืดนิ้วไปหมุนวงแหวนโฟกัสท้ายเลนส์ในบางสถานการณ์ได้ดีขึ้น สำหรับวงแหวนซูมด้านหน้าใช้ยางขนาดใหญ่เซาะร่องถี่ช่วยให้จับกระชับหาเจอง่าย รวมถึงการล็อกช่วงซูมของเลนส์ Sigma ที่ช่วยไม่ให้กระบอกเลนส์ไหลเวลายกก้ม-เงย ความพิเศษที่ชอบก็คือ มีสวิทช์ทรงรีขนานกระบอกเลนส์ขนาดเหมาะมือที่สามารถผลักล็อกได้ทุกช่วงทางยาวโฟกัสตามสกรีนระบุกำกับไว้ ส่วนทาง Tamron จะใช้สวิทช์ล็อกตามมาตรฐานเหมือนเลนส์ซูมตัวอื่นๆ ที่จะล็อกเลนส์เฉพาะช่วงมุมกว้างสุดเท่านั้น ไปดูต่อกับสวิทช์ด้านข้างใกล้วงแหวนโฟกัสจะมีสวิทช์ เปิด-ปิด ระบบป้องกันภาพสั่นไหว, สวิทช์เลือกระบบโฟกัสแบบแมนนวลและแบบอัตโนมัติ อีกสวิทช์ที่สำคัญไม่น้อยในการทำงานของระบบมอเตอร์ในชื่อ HSM กับ USD แม้จะต่างแบรนด์แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในเรื่องการขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ให้หาระยะโฟกัสวัตถุได้ในเวลารวดเร็ว เงียบไร้เสียงรบกวน จุดนี้มีระยะในการหมุนหาโฟกัสให้เลือกตั้งแต่ใกล้สุดถึงระยะอินฟินิตี้ (Full), 15เมตร ถึงระยะอินฟินิตี้ และที่ช่วงใกล้สุด 2.8เมตร ถึง 10เมตร เลือกใช้ตามสถานการณ์ระยะห่างของวัตถุเพื่อความรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
 
     HOOD อุปกรณ์เสริมหล่อสุดคลาสสิคที่มีผลต่อสายตาคนรอบข้างเวลานำไปใช้งานแต่สิ่งที่เป็นหน้าที่หลัก คือการป้องกันแสงลอดผ่านเข้าไปยามถ่ายภาพย้อนแสงแล้วมีโอกาสเกิดแสงแฟลร์(Flare) ในส่วนนี้ทาง Tamron ทำได้ใหญ่โตอลังการทั้งความยาวและความกว้างมีการเติมสันเหลี่ยมให้ดูดุดันเพื่อไม่ให้เทอะทะจนเกินงาม ซึ่งทาง Sigma เลือกที่จะทำฮู้ดทรงกลมให้มีขนาดใหญ่พอดีกับองศาการรับภาพของช่วงเลนส์ โดยทั้งสองแบรนด์ออกแบบให้กลมกลืนกับตัวกระบอกเลนส์เป็นอย่างดี
 
 
     LENS CONTRUCTION หรือโครงสร้างชิ้นเลนส์ของเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ของทั้งสองรุ่นมีการเคลือบโค้ทผิวเลนส์ในระดับนาโนจึงทำให้ภาพแม้จะยิงสวนแสงก็เกิดอาการแฟลร์ต่ำมากๆ การเกิดอาการ CA(Chromatic Aberration) จะถูกสะกัดด้วยการใส่ชิ้นเลนส์ ED เข้าไปควบคุมคุณภาพแก้อาการภาพเหลื่อมติดขอบแดงขอบม่วงตั้งแต่ช่วงมุมกว้างจนถึงมุมระยะไกล ซึ่งตลอดการใช้งานด้วยการถือบอดี้พร้อมเลนส์โอกาสการเกิดก็มีบ้างแต่เป็นสถานการณ์โหดๆที่รับได้กับผลลัพธ์เมื่อเทียบกับราคาค่าตัวต่ำกว่าสี่หมื่นบาท แม้จะมีอาการโฟกัสหวืดบ้างในตัว Tamron แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนบอดี้เป็นกล้องรุ่นสูงกว่านี้จะช่วยให้อาการหายไปได้มากรวมถึงการโฟกัสที่เร็วขึ้นตามจำนวนจุดโฟกัสของกล้องรุ่นนั้นๆ
 
 
 
 
     LENS ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ของทั้งสองรุ่นมีความน่าสนใจ ความโดดเด่นที่ใกล้เคียงกันมากแตกต่างกันในรายละเอียดจุดเล็กๆน้อยๆ ขึ้นอยู่กับความชอบและลักษณะการใช้งานของช่างภาพแต่ละคน เป็นหลักควรหาโอกาสไปทดลองสัมผัสตัวจริงก่อนตัดสินใจซื้อเพราะหน้าตาจะถูกโฉลกมากน้อยว่าที่เจ้าของเท่านั้น...จะชี้ชะตาได้ดีที่สุด!!! ท่านที่มองหาเลนส์ในระดับนี้อยู่เพื่อเปิดประสบการณ์การถ่ายภาพอีกแนวทางหนึ่งรับรองว่าจะทำให้คุณประทับใจและตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ได้แน่นอน
 
     BIGCamera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด ขอมอบสิ่งดีๆ เสริฟถึงที่ด้วยสาระความรู้ ความสนุก สอดแทรกแง่คิดดีๆ อย่างนี้เป็นประจำทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน อยากรู้อยากสนุกกับการนำเสนอกล้องรุ่นใหม่ๆ ผ่านตัวหนังสือ และภาพถ่าย อย่าพลาด! ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความรู้ควบคู่กับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ไม่เคยหยุดนิ่งของโลกใบนี้ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ครั้งต่อไป...สวัสดีครับ
 
SIGMA 150-600mm f/5.0-6.3 DG OS HSM Specifications :
  • โครงสร้างชิ้นเลนส์ 20 ชิ้น 14กลุ่ม
  • ชิ้นเลนส์พิเศษ LD
  • ชิ้นเลนส์ SLD 3 ชิ้น
  • มีชิ้นเลนส์Fluorine 1 ชิ้น
  • ช่องรับแสงกว้างสุด f2.8 และแคบสุดที่ f32
  • ม่านรูรับแสงจำนวน 9ใบ
  • ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.28 เมตร
  • ฟิลเตอร์ขนาด95มม.
  • น้ำหนัก 1,930 กรัม
 
TAMRON SP 150-600mm f/5.0-6.3 Di VC USD Specifications :
  • โครงสร้างชิ้นเลนส์ 20 ชิ้น 13กลุ่ม
  • ชิ้นเลนส์พิเศษ LD 3 ชิ้น
  • เคลือบผิวเลนส์ด้วยเทคโนโลยี BBAR และEBAND
  • มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว VC (Vibration Compensation)
  • มีระบบ USD(Ultrasonic Silent Drive )มอเตอร์โฟกัสภาพที่เงียบ
  • ช่องรับแสงกว้างสุด f2.8 และแคบสุดที่ f32
  • ม่านรูรับแสงจำนวน 9ใบ
  • ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.27เมตร
  • ฟิลเตอร์ขนาด 95 มม.
  • น้ำหนัก 1,951 กรัม
 
Back to top