เดินทางกับกล้องคู่ใจกับ อ.สงคราม โพธิ์วิไล : ตอน 2
พบกันในวันสดใสครับ ไปถ่ายภาพที่ไหนกันบ้าง ถ้ามีโอกาสดีมีวันว่าง ชวนผมไปด้วยนะ เผื่อจะได้ “คมความคิดจากท่านบ้าง” คมเลนส์อย่างเดียวคงไม่พอนะ ต้องคมความคิด คมมุมมอง แต่ก็อย่างว่าละครับ คมของใคร ใครก็ว่าคม
ให้กำลังใจตัวเองบ้างเมื่อถ่ายภาพถูกใจตัวเอง อย่าเปรียบเทียบกับผู้อื่นมากนัก ภูมิใจในภาพเราพัฒนาแนวทางต่อไป อย่าเพิ่งท้อแท้ จงชื่นชมภาพของเพื่อนบ้าง อย่าระดมว่า ไม่งดงามสักภาพบ่อยๆ แนะนำชี้ทางเพื่อภาพงามให้เขา จะทำให้เราเห็นความสวยงามเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย
ดอนพุด ยังคงขลังอยู่ในใจผมโขอยู่นะครับ มีวัดดอนพุด ที่หลวงพ่อท่านเคร่งเรื่อง วิปัสนากรรมฐานระหว่างวัดกับชาวบ้านนั้นจะบิณฑบาต หรือ มีธุรกิจใดมักจะเดินลัดท้องทุ่ง หรือลุยทุ่ง แล้วแต่ใครจะเรียก
เมื่อพระคุณเจ้าเดินลัดทุ่งมา เลนส์ซูม 70-300 มม. ถูกสับเปลี่ยนเข้าตัวบอดี้กล้องทันที การปรับใช้ซูมนั้นดูจังหวะที่งดงาม ในองค์ประกอบภาพ เป็นหลักเบื้องต้น
วางตำแหน่งที่พระท่านเดินไป ต้องไม่ลืมวางหน้าเพื่อการเดินต่อ หมายถึงยังไปอีกไกล ถ้าวางด้านหลังนั่นหมายถึงว่าเดินมาไกลแล้ว หรืออาจจะวางไว้กลางภาพให้เห็นความสมดุลย์ภายในภาพ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้นักถ่ายภาพเท่านั้น ที่วางจุดมุ่งหมายใด ให้ปรากฎและมีศิลปะในการวางตำแหน่ง จุดที่น่าสนใจหลัก อย่างลงตัวพร้อมให้คำอธิบายได้ อย่าถ่ายโดยขาดแนวคิด ต้องวาดแผนผังความสมบูรณ์ของภาพไว้ในใจ ในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มองอยู่ หรือจะดูจากจอภาพแบบไรฟ์วิวก็ตาม อย่าบอกใครว่า “ภาพนี้ฟลุ๊ก” เมื่อมีคนชมว่าสวย ต้องบอกไปเลยว่า “ภาพนี้ตั้งใจถ่าย” ถ่ายจากใจ ถ่ายจากความคิด
การปรับขนาดซูม จาก 70 – 90 – 150 – 300 มม. จะทำให้ได้ค่ารับแสงกว้างสุดมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกครั้งท่านต้องหมั่นสังเกตด้วยนะครับ เพราะจะมีผลต่อภาพได้เช่นกัน รายละเอียดตรงนี้ เลนส์แต่ละตัวไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเลนส์ซูมที่ค่าแสงกว้างสุด 2F ที่ผมใช้อยู่ 70 – 300 มม. F4.0 - F5.6 ถ้าผมใช้ที่ 70 มม. จะได้ช่องรับแสงที่ F4.0 พอขยับตัวซูมที่ 150 มม. จะเป็น F 4.5 ถ้าใช้ที่ 300 มม. จะเป็น 5.6 ผลต่างคือ ค่าความชัดลึกที่เป็นเปลี่ยนไป
ถ้าจะให้ดีที่สุด เลือกซื้อเลนส์ซูมที่มี F เดียวกันตลอดช่วง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงช่องรับแสง เช่น ED 35-100 mm. F2.0 หรือ ED 14-35 mm. F2.0 SWD ถ้าได้อย่างนี้ละก็ไม่ต้องห่วงอะไร เรียกว่า ...หายห่วง... เลยเชียวครับ
พอมาถึงชุดชาวนา ผมเลือกที่จะสลับเลนส์ชุดของผมซูมแบบมุมกว้าง กับซูมแบบมุมแคบ เพราะการเน้นอารมณ์ เน้นแสง เรื่องฉากหลัง ผมคำนึงถึงเสมอ ดูให้ทั่วภาพก่อนกดชัตเตอร์ หรือท่านจะกดรัว แช๊ะๆๆๆๆ ไปก่อนแล้วมาเลือก ลบทิ้งภายหลัง ผมไม่ชอบทำมากนักแบบนี้ “Input ให้ดี แล้ว Output จะดีเอง” แหม! ก็มาถึง ดอนพุดก็ต้อง INPUT ให้ดีไว้ก่อนครับ
ในภาพชุดนี้ 1 คนบ้าง 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง ตามอารมณ์ของภาพ ตามจังหวะมุมมองที่ผมวิ่งไปวิ่งมาหมุนชอบใจ ส่วนมากผมจะใช้ค่ารับแสงที่ F4 และ 5.6 เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยง ที่จะเห็นความคมของฉากหลัง ต้องการให้กลุ่มคนลอยเด่นขึ้นมา เลือกฉากหลังที่หลบแสงด้วยยิ่งดี ความเข้มของฉากหลังจะไม่โดนแสง จะขับขานให้แสงริมขอบที่มาปะทะตัวบุคคล มีความงามไปด้วยเราเรียกว่า “RIM LIGHT”
บางภาพผมอาจเน้นเชิงศิลปะบ้าง เช่น ปรับชัดเฉพาะยอดรวงเข้า ให้คนดูเบลอๆ ไปตามความรู้สึกนึกคิด หลายท่านอาจคิดว่า….ถ่ายอะไร คนไม่ชัด…ภาพเชิงอาร์ตนิดๆ ที่ภาษาการถ่ายภาพเรียกว่า “ชัดเฉพาะจุด” (selective Focus) ในบางความรู้สึกให้อารมณ์คิดตามไปได้หลายอย่าง
จวบจนใกล้สิ้นแสง ผมเลยได้ขอให้ทุกคนหยุดเดิน ผมนอนราบกับพื้น แหงนกล้องเสยขึ้นด้วยเลนส์ซูม 12 - 60 มม. ใช้ช่วงกว้าง 12 มม. วัดแสงที่ท้องฟ้า เน้นโครงสร้างภาพเป็นเงาทึบ ที่เราเรียกว่า ซิลุเอท (silhouette) ถ้าสำเนียงฝั่งเศสต้องพูดว่า ซิล-ลุ-เอท-เต
ในการถ่ายภาพหลายครั้ง เราต้องลงทุน เพื่อจะได้ภาพแปลกตา ทำให้น่าสนใจ บางทีจะมีคนถามผมว่า….ทำไมต้องกลิ้งเกลือกขนาดนั้น…คราวนี้เช่นกัน มีน้องนางบ้านนา กับลุงร่างเท่ ควบมอเตอร์ไซด์จอดลงมาดู เห็นผมนอนกลิ้งเกลือกกับพื้น ถามว่า “ทำอะไร” หลายคนตอบแทนผมว่า “ถ่ายภาพครับ” ได้ยินเสียงแว่วว่า “ถ่ายภาพต้องขนาดนี้เลยรึ ยืนถ่ายเหมือนคนอื่นๆไม่ได้หรือ” แล้วก็ควบมอเตอร์ไซค์ลับตาไป
ลุงครับ น้องครับ ถ้ายืนถ่ายภาพ นั่งถ่ายภาพมันก็มีมุมเหมือนกันหมดเลยครับ ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ความเห็นอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ย่อมแตกต่างกันออกไป
ภาพชุดนี้ ผมถ่ายมามากพอสมควร เพราะทดลองเลนส์ ทดลองค่าไวบาลานซ์ ทดลองการติดบวก-ติดลบ เป็นอย่างไร ทดลองชนิดของการวัดแสง 3 แบบ ที่มีอยู่ในกล้องว่าแตกต่างกันอย่างใดในสภาพแสงที่มีอยู่
การทดลอง ก็คือ การสร้างทฤษฎี ให้กับตัวเองเพื่อก้าวสู่การปฏิบัติการที่ถูกต้อง ถูกใจ ถูกหลักการ เป็นการหล่อหลอมความคิด การมองเห็น การใช้อุปกรณ์ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ภาพดอกหญ้าริมหัวคันนา เมื่อใกล้แสงสุดท้าย ผมใช้เลนส์ 12 - 60 มม. ใช้ระยะซูมที่ 60 มม. ปรับชัดด้วยระบบ MF ให้ใกล้ที่สุดเท่าที่เลนส์ทำได้ ปรากฏว่า เหมือนกับการใช้เลนส์มาโครเลย คือ ได้ระยะใกล้ถึง 25 ซม. กะประมาณว่าเท่ากับอัตราการขยายของเลนส์มาโครที่ 1:2 หรือ 1:2.5 ซึ่งทำให้การถ่ายภาพดอกไม้ระยะใกล้หมดปัญหาได้เลย หรือแม้แต่เลนส์ซูม 70 - 300 มม.ที่ใช้อยู่ ยังสามารถถ่ายภาพระยะใกล้ๆ ได้มากเช่นกัน ในอัตราการขยายที่ 1:2 ซูม 70 - 300 มม. ตัวนี้เหมาะกับการถ่ายภาพผีเสื้อ แมลงปอ ระยะที่อยู่ห่างจากเราแล้วดึงเข้ามาได้ในระยะที่พองามทีเดียว
พูดไปแทบไม่น่าเชื่อ ต้องลองเอง ผมบอกได้เลยว่าติดใจ พอใจ ในการถ่ายภาพ Macro หรือ close up ได้ดี แต่อย่าลืม ถ่ายภาพใกล้ ขาตั้งกล้องที่แข็งแรงจำเป็นมากๆ เพราะเราต้องใช้ช่องรับแสงแคบบ้าง จึงทำให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ มือถือกล้องคงยาก จึงต้องใช้ขาตั้งกล้องเป็นหลักไว้ก่อนดีกว่าครับ แต่ถ้าไม่ได้เอาขาตั้งกล้องไปด้วย ใช้วิธีเพิ่มค่าไอเอสโอ (ISO) ให้สูงขึ้น เพื่อดันให้ค่าความเร็วชัตเตอร์สูงตามไปด้วย
พวกเราถ่ายภาพกัน จวบจนดวงอาทิตย์ใกล้ลับชายทุ่ง อีกฟากหนึ่งของผืนนา ป่าไผ่ ชายทุ่ง ลมเย็น นกบินกลับรัง เสียงกบเขียด เริ่มร้องระงมกันแล้ว ชาวนาหลายท่านเดินกลับบ้านตามหัวคันนา เลียบริมคูชลประทาน กระท่อมกลางทุ่ง ยังคลาสสิกเช่นเคย หนุ่มบ้านนายกผ้าขาวม้าปาดหน้าซุ้มเหงื่อ แหงนมองฟ้าอีกชายทุ่ง …เห็นเธอเดินผ่านนาของฉัน ผ่านทางนี้ทุกวัน ความสัมพันธ์รักกันหวานชื่น... เพลงลูกทุ่งของสายัณห์ สัญญา แว่วดังมา
ผมอยากอยู่ถ่ายภาพ ...กระท่อมรักเก่าที่เราเคยได้พบกัน… ของหนุ่มสาวคู่นี้ยามฟ้าสีทองจับฟากฟ้าเสียจริง สักวันผมจะมาแอบถ่ายด้วยกล้องคู่ใจ กับเลนส์ที่ผมมีอยู่
ขอให้มีความสุขเสมอกับการบันทึกภาพนะครับ ตอนต่อไปสนุกกับการผจญภัยพงไพรฤดูหนาวที่มีทะเลหมอกใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง แล้วพบกันครับ