ภาพถ่าย Action คือการถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของตัวแบบ เช่น รถยนต์แล่น คนกระโดด หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬาต่างๆ ให้ออกมาสวยงาม เป็นการถ่ายภาพประเภทหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์อันสุดยอด ควรฝึกฝนบ่อยๆ จนกว่าจะได้ภาพถ่ายที่เพอร์เฟ็กต์ ไปดูกันดีกว่าว่ามีเทคนิคอะไรดีๆ บ้างในการถ่าย Action
1. หยุด Action
การตั้งค่าที่สำคัญเมื่อถ่ายเหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวเร็วๆ ก็คือสปีดชัตเตอร์ เราจะต้องใช้สปีดชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบ ปกติจะตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ประมาณ 1/500 ขึ้นไป แต่การตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพแสงตอนถ่ายภาพ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวแบบ
แต่ถ้าอยากถ่ายรถยนต์ที่เคลื่อนตัวอยู่แบบ Panning ให้ลองลดสปีดชัตเตอร์ลง แต่ก็ยังเร็วพอที่จะให้รถยนต์นั้นคมชัด โดยจะเห็น motion blur ที่ล้อรถยนต์ ซึ่งทำให้รู้ว่าตอนที่กำลังถ่ายภาพ รถยนต์กำลังเคลื่อนทีี่!!
ส่วนการตั้งค่ากล้องสำหรับผู้ที่เริ่มถ่าย action เร็วๆ แนะนำว่าให้ใช้โหมด Shutter Priority โหมดนี้จะตั้งค่าสปีดชัตเตอร์เอง ส่วนการตั้งค่าอื่นๆ กล้องจะคำนวณให้
2. Pre-focus
เมื่อจะถ่าย action เร็วๆ ควรตั้งค่ากล้องไว้ก่อน ตามที่ได้กล่าวไว้ด้านบน เริ่มจากตั้งค่า
สปีดชัตเตอร์เร็วๆ จากนั้นให้ลอง Pre-focus ไว้ก่อน เช่นในการถ่ายกีฬาฟุตบอล ให้ตั้งโฟกัสไว้ที่ประตู และรอให้มีการทำประตูเกิดขึ้น หรือถ่าย action กระโดดอย่างภาพด้านล่าง เรารู้จุดที่ตัวแบบจะอยู่กลางอากาศ เราก็ทำการ Pre-focus ไว้ก่อน
3. โหมด Auto Focus
การถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ให้คมชัด ควรเลือกโหมด Auto Focus ให้ถูกต้อง หลักๆ ที่ใช้มีโหมด Single/ One Shot และ Continuous ถ้าต้องการถ่ายวัตถุที่มีขนาดเล็กและต้องการความแม่นยำ ใช้ AF-C single point หรือการโฟกัสต่อเนื่องแบบจุดเดียว ซึ่งต้องเลือกพื้นที่การโฟกัสเอง แต่ถ้าวัตถุมีขนาดใหญ่และเคลื่อนที่ตลอดเวลา สามารถใช้ AF-C Tracking Focus เพือติดตามให้ตัวแบบโฟกัสและคมชัด
4. Panning
เทคนิคที่มีประโยชน์มากอีกอย่างหนึ่งในการถ่าย Action ก็คือ Panning ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่สวยงาม และเป็นวิธียอดนิยมที่จะให้ตัวแบบดูคล้ายกับมีการเคลื่อนที่ในภาพ โดยการ Panning จะต้องเคลื่อนกล้องตามตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือตัวแบบคมชัด ขณะที่ฉากหลังเบลอ
การถ่าย Panning ให้สวยงาม จะต้องใช้สปีดชัตเตอร์ช้าลงเล็กน้อย เพื่อให้ตัวแบบคมชัด ฉากหลังเบลอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแสงและความเร็วของตัวแบบด้วย แนะนำให้ใช้สปีดชัตเตอร์ระหว่าง 1/60 และ 1 /8 ในการ Panning
5. ยิงแฟลช
แฟลชเป็นเครื่องมือช่วยให้ถ่ายภาพ Action ได้ดี เพราะแฟลชจะช่วยสะท้อนตัวแบบ และยังทำให้ถ่ายภาพโดยใช้สปีดชัตเตอร์ช้า เพื่อเบลอฉากหลัง และเมื่อยิงแฟลชออกไป ก็จะหยุดการเคลื่อนที่และช่วยให้ตัวแบบคมชัด
ส่วนเวลาที่เหมาะกับการใช้แฟลคือเมื่ออยู่ในสภาพแสงน้อย เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือดวงอาทิตย์ตก แต่ให้แน่ใจว่าการยิงแฟลชควรยิงจากด้านข้าง แสงจะไม่แบน เพราะฉากหลังมืดๆ จะยิ่งเน้นให้ตัวแบบโดดเด่น
มีสองเทคนิคในการถ่ายภาพ Action แบบนี้คือ เทคนิคแรกถือกล้องให้มั่นคงและรอถ่ายภาพขณะที่ตัวแบบเคลื่อนตรงมาหาเรา ส่วนเทคนิคที่สองคือใช้การ Panning ติดตามตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่อยู่นั่นเอง
6. ความชัดตื้น
วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ฉากหลังเบลอคือการใช้รูรับแสงกว้าง เพื่อให้ตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่อยู่นั้นโดดเด่น เพราะการใช้รูรับแสงกว้าง หมายถึงสภาพแสงจะเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น จึงต้องปรับสปีดชัตเตอร์เร็วขึ้น
7. มุมมองของภาพ
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพให้ยอดเยี่ยม คือต้องหามุมถ่ายภาพให้ดี และจะต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมด้วย โดยหามุมที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้เพื่อให้ได้ภาพในมุมมองที่ยอดเยี่ยมหรือแปลกใหม่ อย่ากลัวที่จะนอนราบกับพื้นเพื่อถ่ายภาพ หรือขึ้นไปถ่ายในที่สูง แลกกับภาพที่เพอร์เฟ็กต์กว่าใคร
ที่มา contrastly.com