5 เคล็ดลับการใช้ขาตั้งกล้อง

 

ขาตั้งกล้อง คือ ไอเท็มจำเป็นสำหรับช่างภาพ เพราะในการถ่ายภาพคงหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แสงน้อยหรือตอนกลางคืนไม่ได้ หรืออยากได้ภาพถ่ายที่มีการเล่นกับแสงไฟและก้อนเมฆให้ฟุ้งออกมาเป็นเส้นสาย หรือที่เรียกว่าเทคนิค Long Exposure การเปิดความเร็วชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานาน หากมือไม่นิ่งพอ ภาพที่ได้จะเบลอแน่นอน วิธีแก้คือใช้ขาตั้งกล้องช่วยซึ่งจะทำให้กล้องไม่สั่นไหวและภาพออกมาคมกริบ

ยังมีหลายคนที่ซื้อขาตั้งกล้องไปแล้วแต่ยังประสบปัญหาภาพไม่คมชัดหรือได้ภาพเบลอๆ อยู่ เรามาลองดูเคล็ดลับง่าย ๆ เพียง 5 ข้อ เพื่อจะทำให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัดยิ่งขึ้น

 

 

 

1. กางขาตั้งกล้องออกเท่าที่จำเป็น

 

สิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ที่มักนึกถึงเวลาเลือกซื้อขาตั้งกล้อง คือขาตั้งกางได้มากสุดแค่ไหน แล้วพอนำมาใช้บางคนจึงเข้าใจผิด กางขาตั้งออกจนสุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งทำให้ความแข็งแรงและความมั่นคงของขาตั้งกล้องลดลง เมื่อโดนลมพัดแรงๆ ขาตั้งกล้องก็จะสั่นจนทำให้ภาพที่ได้เบลอหรือไม่ชัด ดังนั้นควรกางขาตั้งกล้องออกเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมก็พอ ส่วนวิธีกางขาตั้งที่ถูกต้อง ให้กางขาตั้งท่อนใหญ่ก่อนเพื่อเป็นฐานที่มั่นคงและปลอดภัย

 

 

 

2. ปิด Image Stabilization

 

 

ในการถ่ายภาพโดยเปิดชัตเตอร์เร็ว ๆ และใช้คู่กับเลนส์ที่เปิดโหมด Image Stabilization ระบบกันสั่น ซึ่งตัวย่อคือ IS หรือ VR ภาพที่ได้จะออกมาคมชัด แต่ถ้าถ่ายภาพ Landscape ตอนกลางคืนที่แสงน้อย ถ่ายดาว หรือถ่ายแสงไฟให้เป็นเส้นสาย ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้ชัตเตอร์ช้า ๆ และวางกล้องบนขาตั้งกล้อง แล้วเปิดโหมด IS หรือ VR ทิ้งไว้ ทำให้ตัวเลนส์เกิดการสั่นเสียเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันการสั่นไหวจากตัวกล้อง ที่จะทำให้ภาพถ่ายออกมาเบลอ พอมีขาตั้งกล้องอยู่แล้วจึงควรปิดโหมด IS หรือ VR

 

 

 

3. ใช้ Mirror lock-up

 

 

กล้องดิจิตอลยกเว้นตระกูลกล้อง mirrorless จะมีกระจกอยู่ด้านในตัวกล้อง เพื่อสะท้อนไปยังช่องมองภาพ ช่วยให้เราเห็นภาพผ่านทางช่องมองภาพได้ และเมื่อกดชัตเตอร์จะทำให้กระจกข้างในเกิดการเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้ตัวกล้องสั่น หากใช้ชัตเตอร์เร็วไม่เป็นปัญหาแน่นอน แต่ถ้าใช้ชัตเตอร์ช้า ๆ ที่ไวต่อการเคลื่อนไหวของกล้อง ภาพที่ได้ย่อมเบลอแน่นอน เลยต้องเปิด Mirror lock-up การล็อคกระจกข้างในกล้อง เพื่อล็อคการเคลื่อนไหวของตัวกระจกด้านใน

 

(ตัวอย่างภาพโหมด Mirror lock-up ในกล้อง Canon)

 

(ตัวอย่างภาพเมื่อเปิดโหมด Mirror lock-up)

 

แต่การทำงานของ Mirror lock-upนี้จะแตกต่างกันไปตามกล้องแต่ละรุ่น กล้องบางรุ่นจะยกกระจกในกล้องขึ้นมาเลยจนกว่าจะปิดโหมดนี้ ในขณะที่บางรุ่นจะต้องกดปุ่มชัตเตอร์ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเพื่อยกกระจกขึ้นมาก่อน ครั้งที่สองถึงค่อยจับภาพ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีการใช้กล้องให้ดีด้วย

 

 



4. ใช้การตั้งเวลาชัตเตอร์หรือสายลั่นชัตเตอร์

 

 

การถ่ายภาพในที่แสงน้อยเปิดชัตเตอร์นานๆ เมื่อวางกล้องบนขาตั้งกล้องแล้ว ก็อย่าลืมตั้งเวลาชัตเตอร์ไว้ด้วย เพราะเวลาเราต้องกดปุ่มชัตเตอร์บนตัวกล้องจะทำให้กล้องเกิดการสั่นไหว ภาพออกมาเบลอได้ ดังนั้นควรตั้งเวลาชัตเตอร์ไว้ เพื่อให้กล้องนิ่งจะดีกว่า หรือจะใช้สายลั่นชัตเตอร์ช่วยในการกดชัตเตอร์ก็ได้เหมือนกัน

 

 

 

5. ใช้ ISO ต่ำ ๆ


แน่นอนว่าการถ่ายภาพโดยใช้ ISO สูงๆ จะทำให้ภาพถ่ายมีโอกาสเกิด noise กับ grain
แต่ในขณะที่ถ่ายภาพตอนแสงน้อยคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ ISO สูงๆ กับชัตเตอร์ช้า ๆ เพื่อให้แสงเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น ดังนั้นโอกาสเกิด noise กับ grain ในภาพจึงมีมากขึ้น แถมภาพที่ได้ยังไม่ชัดและเบลออีกต่างหาก แต่หากมีขาตั้งกล้องก็สามารถใช้ ISO ต่ำ ๆ ได้ ภาพถ่ายก็ออกมาคมชัดและสวยงาม

 

 

ที่มา digital-photography-school.com/

Back to top