15 ไอเดียสุดคูลในการถ่ายภาพ Winter Photography

 

ใครมีโอกาสไปท่องเที่ยวต่างประเทศช่วงฤดูหนาว อย่าลืมพกกล้องติดตัวไปด้วย เพราะฤดูหนาวเป็นฤดูที่ได้ภาพถ่ายที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับฤดูอื่น ๆ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและน้ำแข็งคือสิ่งที่เพิ่มความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการถ่าย Landscape , Macro หิมะและน้ำค้าง และการถ่าย Portrait หากคุณต้องการหาไอเดียและเคล็ดลับในการถ่ายภาพฤดูหนาว บทความนี้ช่วยได้

 

 

 

1. ถ่ายเกล็ดหิมะแบบ Macro

ฤดูหนาวเป็นฤดูที่จะได้ภาพถ่าย Macro อันหลากหลายและงดงาม โดยตัวแบบที่จัดว่าน่าสนใจอย่างหนึ่งของฤดูนี้ก็คือเกล็ดหิมะ ซึ่งเมื่อใช้เลนส์มาโครถ่ายจะเห็นลวดลายที่สวยงาม

Tip : การถ่าย Macro ควรมีเลนส์ดี ๆ ติดตัวไว้ ที่นิยมใช้กันคือเลนส์ที่ให้กำลังขยาย 1:1 ทำให้วัตถุขนาดเล็กขยายใหญ่ขึ้น จนเห็นรายละเอียดที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ถ้าอยากได้กำลังขยายมากกว่านี้ จะต้องใช้ extension tube ส่วนทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่แนะนำก็คือ 50-200mm

 

 

 

2. ภาพหิมะโปรยปราย

อย่าพลาดการถ่ายภาพตอนที่หิมะกำลังร่วงโปรยลงมา เพราะเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษที่ช่วยให้ภาพถ่ายของคุณสวยงามอย่างยิ่ง แต่ควรระวังเรื่องแบตเตอรี่ที่อาจหมดเร็วกว่าปกติ เนื่องจากอากาศหนาวจัด

Tip : ใครที่ต้องการภาพหิมะตกแบบเบลอ ๆ ก็ให้ถ่ายภาพโดยใช้สปีดชัตเตอร์ช้า ๆ และใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อป้องกันกล้องสั่น แต่ถ้าต้องการภาพถ่ายที่หยุดการเคลื่อนไหวของหิมะ ก็เปลี่ยนไปใช้สปีดชัตเตอร์เร็ว ๆ

 

 

 

3. Bokeh

หากอากาศนอกบ้านหรือในห้างค่อนข้างมืดทึม ไม่เหมาะแก่การออกไปถ่ายภาพ ก็ลองเปลี่ยนเป็นหามุมถ่ายในบ้าน และฝึกถ่าย Bokeh เพราะช่วงฤดูหนาวก็ใกล้ถึงเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ย่อมต้องมีการประดับไฟ ที่ทำให้มีโอกาสได้ภาพโบเก้กลมๆ สวยๆ เป็นฉากหลัง

Tip : การถ่าย Bokeh จะต้องคำนึงถึงค่า f เลขน้อย ๆ เช่น f1.4 f1.8 และ f2.8 ทำให้ภาพถ่ายมีความชัดตื้น และควรซื้อเซ็ทโบเก้รูปแบบต่าง ๆ เช่น ดาวแฉก รูปหัวใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย! หรือทำเองโดยใช้กระดาษสีก็ได้ (อ่านบทความเพิ่มเติม : 10 เคล็ดลับการถ่ายภาพ Bokeh)

 

 

 

4. ปรับค่า White Balance

ภาพถ่ายที่มีหิมะปกคลุมจะมีความโดดเด่นมาก เมื่อถ่ายภาพและใช้โหมดวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ กล้องจะคำนวณแสงจากสีขาวของหิมะในเฟรมภาพว่าเป็นแสงที่สว่างจ้า แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นสีเทา
ดังนั้นเพื่อให้ได้ภาพถ่ายหิมะสีขาว ควรวัดแสงชดเชยเพิ่มขึ้นเป็น +1 หรือ + 2 และปรับค่า White Balance เป็นโทนสีออกฟ้า ๆ

Tip : White Balance และการวัดแสงทำงานควบคู่กัน ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าปรับค่าสองอย่างนี้สัมพันธ์กันแล้ว เพื่อให้ได้ภาพถ่ายหิมะที่โดนใจ

 

 

 

 

5. ถ่าย Landscape แบบ Snowy

ภาพวิวทิวทัศน์ที่มีหิมะและน้ำค้างปกคลุมจะเพิ่มความโดดเด่นให้ภาพถ่ายของคุณ เพราะหิมะและน้ำค้างช่วยเปลี่ยนบรรยากาศของภาพ Landscape จากสีเขียวแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นอีกโลกหนึ่งเลยเชียวละ


Tip : ถ้าภาพถ่ายเกิดติดขอบดำขึ้นมา ให้คำนึงถึงการเพิ่ม white vignette หรือขอบสีขาวเข้าไปในภาพถ่ายโดยการแต่งภาพภายหลัง

 

 

 

6. ภาพ Dramatic

ฤดูหนาวมาพร้อมกับคลื่นลมแรงที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าโลเกชั่นถ่ายภาพของคุณอยู่ใกล้กับทะเลสาบ หรือทะเล ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ภาพถ่ายแห่งความงดงามและพลังของคลื่น

Tip : สำหรับการถ่ายภาพแนวนี้จะใช้สปีดชัตเตอร์ช้า ๆ เพื่อให้สายน้ำและคลื่นเบลอ ๆ คล้ายกับมีหมอกสีขาวปกคลุม หรือจะใช้สปีดชัตเตอร์เร็ว ๆ จับภาพคลื่นน้ำที่กระทบชายฝั่งให้คมชัดก็ได้เช่นกัน

 

 

 

7. ถ่าย Landscape กับแหล่งน้ำ

ภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบเป็นแหล่งน้ำ เช่น มหาสมุทร แม่น้ำ หรือบ่อน้ำ ก็ให้ได้ภาพที่ดูสบายไปได้อีกแบบ

Tip : การถ่ายภาพ Landscape โดยมีแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบ ให้ใช้ฟิลเตอร์ C-PL ตัดแสงสะท้อนจากผิวน้ำ แต่หากต้องการถ่ายภาพ Reflection ภาพวัตถุที่สะท้อนกับผิวน้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้
ฟิลเตอร์นี้

 

 

 

8. ถ่ายดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก

การออกไปถ่ายภาพช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกก็ทำให้ได้ภาพถ่ายที่สวยงาม ไม่แพ้ภาพแนวอื่น เพราะแสงแดดจะสะท้อนกับหิมะ จนเกิดโทนสีสวย ๆ ขึ้นมาในภาพ

Tip : ควรนึกถึงการใช้ฟิลเตอร์ C-PL เพื่อตัดแสงสะท้อนของเปลวแดดที่ส่องมากระทบกับหิมะ จนเกิดแสงจ้ามากไป และทำให้สามารถวัดแสงได้เหมาะสมทั้งฉากหน้าและฉากหลัง

 

 

 

9. เล่นกับแสง

แสงคือปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความงดงามให้ภาพถ่าย แม้จะปรากฎเพียงครู่เดียว ช่วงเวลาที่ห้ามพลาดในการถ่ายภาพคือ Golden hour ช่วงดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้น และก่อนดวงอาทิตย์ตก จะได้ฉากหิมะสวย ๆ เพิ่มแสงสีทองเรืองรอง และยังเพิ่ม contrast เข้าไปในภาพ

Tip : ควรวางแผนล่วงหน้าก่อนออกไปถ่ายภาพ ! สำรวจโลเกชั่นที่จะถ่าย และรู้เวลา Golden hour ของแต่ละสถานที่ เพื่อจะได้เตรียมตัวไปถึงก่อน เพราะสภาพแสงเจ๋ง ๆ ไม่ได้อยู่นาน และยังต้องระวังเรื่องหิมะละลายด้วย

 

 

 

10. ถ่ายแสงไฟในเมือง

การถ่ายภาพ Cityscape ที่มีหิมะปกคลุมจะเพิ่มความลึกลับเข้าไปในภาพ และถ้าถ่ายช่วงกลางคืน แสงไฟในเมืองกับหิมะสีขาว ก็ยิ่งเพิ่มมนตร์เสน่ห์ให้ภาพเข้าไปอีก

Tip : เมื่อถ่ายภาพเมืองในตอนกลางคืน การใช้ Autofocus อาจต้องใช้เวลาในการโฟกัสมากหน่อย ให้เปลี่ยนไปใช้ manual focus ซึ่งเลือกจุดโฟกัสได้สะดวกกว่า

 

 

 

11. ถ่ายแนว Street ซะเลย

การถ่ายภาพขาช้อปในชุดเสื้อผ้าฤดูหนาวที่กำลังเร่งรีบบนท้องถนนที่มีแสงไฟประดับ ก็ทำให้ได้ภาพอันยอดเยี่ยมที่สื่ออารมณ์ไปอีกแบบ และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมภาพถ่าย street ถึงเป็นที่นิยม

Tip : เมื่อต้องการถ่ายภาพแนว street และอยากให้คล้ายกับมีอารมณ์เคลื่อนไหวเหมือนตัวอย่างภาพด้านบน ควรเลี่ยงการใช้แฟลช เพราะแฟลชจะหยุดการเคลื่อนที่ของวัตถุ และเนื่องจากเป็นการถ่ายภาพตอนกลางคืนที่แสงน้อย จึงควรเพิ่มค่า ISO ขึ้น

 

 

 

12. ภาพ Portrait

ฤดูหนาวคือช่วงเวลาที่ดีและเหมาะแก่การถ่ายภาพ Portrait นอกบ้าน เพราะหิมะคือวัตถุที่สะท้อนแสงทางธรรมชาติได้ดี หากให้ตัวแบบอยู่ใกล้หิมะ จะสะท้อนไปโดนใบหน้าของตัวแบบ

Tip : หากออกไปถ่ายภาพช่วงดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือตอนที่มีแสงแดดจ้า แสงจะแข็ง จึงควรใช้ฟิลเตอร์ ND ช่วยจะทำให้ภาพสวยกว่า

 

 

 

13. ฟ้าปิด ไม่มีแดด

ช่วงฤดูหนาวของต่างประเทศ อาจพบฟ้าปิด และไม่มีแดด ซึ่งหากถ่ายภาพ จะได้ภาพถ่ายสี
หม่น ๆ และดูหดหู่เกินไป ควรหาองค์ประกอบที่มีสีเข้ม ๆ เพิ่มเข้าไปในภาพจะทำให้ภาพมี Contrast กว่า
Tip : ส่วนการถ่าย Portrait ข้างนอกในช่วงฤดูหนาว แนะนำให้เพิ่มพร็อพสีเข้ม ๆ เข้าไปในภาพถ่าย เพื่อสร้าง contrast ระหว่างหิมะกับตัวแบบ

 

 

 

14. ถ่ายน้ำแข็ง

ช่วงฤดุหนาว ใคร ๆ ก็ไม่พลาดถ่ายหิมะ แต่อย่าลืมน้ำแข็ง ซึ่งเป็นอีกตัวแบบที่ดีในการถ่ายภาพ การเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ จนเห็น pattern และ รายละเอียดของน้ำแข็ง จะช่วยสร้างภาพถ่ายอันสุดยอด

Tip : การถ่ายภาพให้เห็น texture อย่างที่ต้องการ ช่วงฤดูหนาวมีโอกาสมากมายที่จะได้ pattern สวยๆ

 

 

 

15. ถ่าย HDR

เมื่อถ่ายภาพ Landscape คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอสถานที่ที่มีค่ารับแสงในภาพต่างกัน เช่นฉากหน้าสว่าง ขณะที่ฉากหลังมืด ซึ่งทำให้วัดแสงลำบาก และต้องถ่ายโดย HDR

Tip : ในการถ่ายภาพ ให้ตั้งค่ากล้องเป็น Auto exposure Bracketing (AEB) , autobracketing หรือที่เรียกว่าโหมดคร่อมแสง โดยถ่ายสถานที่หนึ่งไว้หลาย ๆ ภาพ และแต่ละภาพมีค่ารับแสงที่ต่างกัน เช่นภาพหนึ่งมีฉากหน้าสว่าง และอีกภาพมีฉากหน้ามืด จากนั้นใช้ photoshop แต่งภาพรวมกันเป็นภาพถ่ายหนึ่งใบที่สามารถเห็นรายละเอียดขององค์ประกอบในภาพได้ครบและมีค่ารับแสงที่ถูกต้อง

 


ที่มา contrastly.com

Back to top